data-ad-format="autorelaxed">
สภาไตรภาคีแฉ ไทย-อินโดฯ ส่งออกยางเกินความตกลงลดโควตาที่ประชุมทุบโต๊ะขยายเวลาลดส่งออกไปถึงธันวาคม หวังดันราคาอัพขึ้นต่อเนื่อง ขณะตลาดยาง RRM เปิดมากว่า 1 เดือนทั้ง ไทย อินโด มาเลย์ ยังไร้วอลุ่มการเทรด “ธีธัช” ผู้ว่าการยางฯยอมรับต้องใช้เวลา ประกาศแผนปี 60 ดำเนินงานเชิงรุก ตั้งหน่วยธุรกิจหารายได้เลี้ยงตัวเอง
จากที่ 3 ประเทศประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในนามสภาไตรภาคียางพารา(ITRC)ได้มีความตกลงในการลดการส่งออกยางพาราจำนวน 615,000 ตัน ระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2559 โดยแบ่งตามปริมาณสัดส่วนการผลิตใน 3 ปีล่าสุด โดยไทยลดส่งออก 324,005 ตัน อินโดนีเซีย 238,736 ตัน และมาเลเซีย 52,259 ตันเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำนั้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อเร็วนี้ ๆ สภาไตรภาคียางพารา ได้พิจารณาผลการดำเนินการข้างต้นแล้วพบว่า ไทยและอินโดนีเซีย ไม่สามารถลดการส่งออกตามปริมาณที่กำหนดได้ โดยมีการส่งออกเกินโควตาทั้ง 2 ประเทศ จำนวน 103,164 ตัน และ 22,523 ตัน ตามลำดับ ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่สามารถดำเนินการตามมาตรการควบคุมการส่งออกได้ (ดูตารางประกอบ)
“ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ทุกประเทศตะหนักในความรับผิดชอบร่วมกันจึงเห็นสมควรขยายเวลาดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวต่อไปอีกจนถึงเดือนธันวาคม 2559 โดยในส่วนของไทยจะควบคุมปริมาณส่งออกยางจำนวน 75,650 ตัน อย่างไรก็ดีข้อปฏิบัติดังกล่าวมีการถกในที่ประชุมว่าจะส่งผลกระทบ 2 ด้าน ได้แก่การสูญเสียโอกาสในการส่งออกของผู้ประกอบการ และ 2.ผลกระทบต่อกลไกราคาซึ่งมีผลน้อยมากเนื่องจากควบคุมแค่ 6 แสนกว่าตัน”
แหล่งข่าวยังกล่าวถึง การเปิดตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (RRM) เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว แต่ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังไม่มีวอลุ่มการขายในตลาดเลย ระหว่างนี้ทางการยางแห่งประเทศไทย( กยท.)จะไปพัฒนาและยกระดับโรงงานของสหกรณ์ให้มีความพร้อมให้ได้รับมาตรฐานจีเอ็มพี เพื่อที่จะได้มีโอกาสขายในตลาดแห่งนี้ต่อไป
ขณะที่ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.กล่าว ว่า ตลาด RRM จะต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อมั่น ทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนแผนในปี 2560 จะดำเนินการเชิงรุก โดยไม่หวังพึ่งรายได้จากการจัดเก็บเงินสงเคราะห์ยางพารา หรือเงินเซสส์ (ค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง)เพียงอย่างเดียว โดยทาง กยท.มีแผนจัดตั้งหน่วยธุรกิจ เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้ โดยมีอำนาจหน้าที่ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราในตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเจาะเข้าได้ และจะใช้วัตถุดิบจากกลุ่มสหกรณ์ สถาบันเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐานกับ กยท. นำไปป้อนตลาด
แหล่งข่าวจาก กยท. ขยายความว่า อำนาจหน้าที่ของหน่วยธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ ได้แก่ 1.ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 9 (2) 2.จัดทำข้อเสนอเข้าร่วมกิจการหรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ของ กยท. ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 10 (4) และจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัท มหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 10 (6) ในบอร์ด กยท.ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยว่า หาก กยท.ดำเนินการตามแผนการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ และบริษัทในเครือของ กยท.ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ เห็นควรให้ พิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงด้านการลงทุนและความคุ้มค่าของการลงทุนภายใต้ขอบเขตของวัตถุประสงค์ รวมทั้งกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 และหลักเกณฑ์การจัดตั้ง/ร่วมทุน และกำกับการดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
อนึ่ง จากการตรวจสอบราคายางพาราเปรียบเทียบเดือนมีนาคม 2559 ที่ 3 ประเทศเริ่มลดการส่งออกยาง จากข้อมูลราคายางแผ่นดิบตลาดท้องถิ่น จ.สงขลาเฉลี่ยเดือนมีนาคมอยู่ที่ 43.92 บาท/กก. น้ำยางสด (ณ โรงงาน)เฉลี่ยที่ 46.04 บาท/กก. ขณะที่ราคาเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมปรับขึ้นมาอยู่ที่ 52.39 บาท และ 49.84 บาท/กก.ตามลำดับ ล่าสุดราคา ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนอยู่ที่ 53.10 บาท และ 55.50 บาท/กก.ตามลำดับ
source: thansettakij.com/2016/11/05/111099