data-ad-format="autorelaxed">
ผู้ว่าการยางฯ
การบริหารยางพาราทั้งระบบภายใต้องค์กรใหม่ ที่เกิดจากการควบรวม 3 องค์กรด้านยางพาราของประเทศ เป็น “การยางแห่งประเทศไทย” หรือ กยท. และการขับเคลื่อนด้วย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในช่วงเศรษฐกิจและราคายางขาลงไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากจะต้องจัดบุคลากรลงตามโครงสร้างต่างๆ แล้ว จะต้องแก้ปัญหาราคายางที่ตกต่ำควบคู่กันไปด้วย โดยภารกิจหนักดังกล่าวตกอยู่กับ “ดร.ธีธัช สุขสะอาด” ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สัมภาษณ์พิเศษ ถึงผลงานเด่นในรอบ 6 เดือนที่เข้ามานั่งบริหารองค์กรแห่งนี้ ตลอดจนความคืบหน้าแผนยุทธศาสตร์การบริหารยางพาราทั้งระบบว่าทิศทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร
โชว์ผลงานเด่น 6 เดือน
“ดร. ธีธัช” กล่าวว่า ในการบริหารจัดการ กยท. ช่วง 6 เดือนแรก ได้มีการจัดบุคลากรตามโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยอมรับว่าค่อนข้างใช้เวลายาวนานมาก เนื่องจากองค์ประกอบของบุคากร จะจาก 3 หน่วยงานด้านยางพาราของประเทศทั้ง สถาบันวิจัยยาง (สวย.) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ที่ต้องมีกระบวนการเทียบโอนตำแหน่ง ซึ่ง ณ วันนี้ถือว่าการจัดสรรบุคลากรลงตามโครงสร้างงานได้เสร็จเรียบร้อย และล่าสุดอยุ่ระหว่างการสรรหารองผู้ว่า กยท. อีก 3 ตำแหน่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ ขณะเดียวกันยังมีการบริหารจัดการโครงการต่างๆ อาทิ การขึ้นทะเบียนสมาชิกเกษตรกรทั้งเจ้าของสวน/ผู้รับจ้างกรีดยาง และการจ่ายเงินในโครงการสร้างความเข้มแข็งแก่ชาวสวนยาง 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน ซึ่งในขณะนี้ถือว่าปิดโครงการไปเรียบร้อยแล้ว
“นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ขึ้นทะเบียน จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 กันยายนที่ผ่านมา ได้เสนอให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกถึงสิ้นเดือนธันวาคม เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ซึ่งการที่ให้ขึ้นทะเบียนจะได้ทราบว่ามีพื้นที่ปลูกยางพาราในเขต และนอกเขตที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวนเท่าไร หากมีจำนวนมากจะเสนอต่อรัฐบาลให้มีแนวทางการช่วยเหลือในอนาคตสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ วันนี้จึงอยากรณรงค์ให้เกษตรกรมาร่วมกันมารายงานตัวกันมากขึ้น”
สำหรับ กยท. ในวันนี้ได้วางบทบาทเป็นองค์กรหลักในการพัฒนายางทั้งระบบ ไม่ใช่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่อยากยกระดับอุตสาหกรรมให้ทุกฝ่ายมีความเสมอภาคและความเท่าเทียมในเชิงของข้อมูลและโอกาสก่อน โดยยกตัวอย่าง ปัญหากรด”กรดซัลฟิวริก”(เป็นกรดที่ใช้ในการจับตัวของยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ที่มีเกษตรกรใช้อยู่จำนวนมาก ซึ่งกรดนี้มีคุณสมบัติทำให้ยางเสื่อมค่าลง) จะปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้เกษตรกรใช้ กรดฟอร์มิก(เป็นกรดอินทรีย์ ไม่ทำลายคุณภาพยาง)แทน ซึ่งจะต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ซื้อที่มีความต้องการซื้อยางก้อนถ้วยจากใช้กรดฟอร์มิกให้แสดงตน เพื่อให้เกษตรกรรายใดที่มีผลผลิตจาก ฟอร์มิก 100% โรงงานพร้อมจะจ่ายในราคาทีดีกว่าการใช้ กรดซัลฟิวริกจะยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
“ไม่ได้ไปบังคับ ไม่มีอำนาจ เพียงแค่เชิญชวนและขอความร่วมมือ หากโรงงานใดให้ความร่วมมือพร้อมที่จะแจ้งเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ยกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ มีกี่โรงงานที่พร้อมจะซื้อยางก้อนถ้วยที่ทำจากฟอร์มิกก็แจ้งเข้าไป โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาด 50 สตางค์-1 บาทต่อกิโลกรัม จะ แต่ถ้ารณรงค์ให้ไปใช้วัตถุดิบราคาแพง แต่เกษตรกรได้ราคาเท่าเดิมก็ไม่ยุติธรรม ซึ่งจะเห็นว่า กยท. จะทำให้ทุกคนมีความแข่งขันการค้ายุติธรรม”
เร่งมาตรฐานป่าไม้
ดร. ธีธัช กล่าวว่า ทาง กยท.ร่วมกับ TECC (Thailand Forest Certification Council) จะเป็นผู้ออกใบรับรองให้ โดย กยท. จะเร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของกยท.ประจำจังหวัดต่างๆ ในหลักสูตรTrain the Trainer เพื่อให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ สามารถออกใบรับรองมาตรฐานให้กับสวนยางได้ โดย กยท.ตั้งเป้าไว้ว่า สวนยางในพื้นที่นำร่อง4 จังหวัด (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ) จะต้องได้มาตรฐาน FSC และ PEFC (เป็นมาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามหลักสากล โดยต้นยางที่ตัดมาจากการปลูกไม่ใช่จากป่าธรรมชาติ) เต็ม 100% ภายในระยะเวลา 3 เดือน และสวนยางทั่วประเทศจะต้องได้มาตรฐานทั้งหมดภายใน 3 ปี
“หากไม้ยางพาราของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวแล้ว จะทำให้มีตลาดรองรับมากขึ้น และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยในปัจจุบันไม้ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางที่จะต้องส่งไปขายในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรปจะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน FSC และPEFC นี่ถือว่าเป็นกระบวนการป้องกัน เพราะถ้าไม่มีมาตรฐานผลกระทบจะไม่ใช่แค่ไม้ยางพารา แต่อาจจะรวมถึงน้ำยางในอนาคตด้วย”
สร้างตลาดใหม่ ขายทั่วโลก
นอกจากนี้ไทยเองจะต้องเข้าสู่ยุคต้องใช้การตลาดนำการผลิต และการสร้างตลาดใหม่เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึง การวางระบบตลาด เปรียบเหมือนบันได 3 ขั้น ได้แก่ บันไดขั้นที่ 1 ก็คือ ในเรื่องของการรวบรวม ผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางสด หรือเศษยาง หรือน้ำยางก้อนถ้วย จะมีตลาดยาง 108 แห่งในท้องถิ่นรองรับ มีทั้งระบบประมูลปกติและระบบอิเล็กทรอนิคส์ที่มีอยู่นำจำนวนนี้ 29 แห่งกำลังจะเพิ่มเติมเข้าไปอีก ให้ครบทั่ง 108 แห่ง ส่วนตลาดกลางยางพาราทั้ง 6 แห่ง จะเป็นบันไดขั้นที่ 2 ที่ กยท. ได้ออกใบใบรับรองมาตรฐาน GMP ให้กับโรงงานผลิตยางแผ่นรมควัน โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 5906-2556 เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตยางแผ่นรมควัน จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในเรื่องอุตสาหกรรมยาง ของ กยท. และบันไดขั้นที่ 3 ตลาดกลางยางระดับภูมิภาคของอาเซียน หรือ RRM ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย) ต้องการที่จะสร้างแรงต่อรองให้เห็น เมื่อมารวมกันแล้ว เพราะเรามีปริมาณยางรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก เป็นตลาดที่เราต้องการค้าขายกับโลก ค้าขายกับผู้ซื้อในตลาดโลก
“ตลาด RRM เพิ่งเปิดไปเมื่อวันที่26 กันยายน 2559 ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ แต่เชื่อว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่มีความแตกต่าง เป็นตลาดส่งมอบจริงซื้อขายจริงไม่ใช่ซื้อขายกระดาษ ไม่ใช่ตลาดในการซื้อขายล่วงหน้า เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลที่เราไม่ได้อยู่กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเฟกซ์ ซึ่งตลาดนี้จะสามารถส่งออกให้กับโลกทั้งใบไม่ใช่ตลาดเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ใน 6 เดือนที่ผ่านมาผมมีความตั้งใจ และต้องการให้เกษตรกรในยุคปัจจุบันและอนาคต เป็นเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง สามารถอยู่ได้โดยยั่งยืนและก้าวทันเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอนาคต”
source: thansettakij.com/2016/10/10/104677