data-ad-format="autorelaxed">
เลี้ยงหมูป่า
คุณอภิศักดิ์ พันธุ์ไชย อยู่บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 4 ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า เดิมเขาทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วงนั้นได้ศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น จึงทำให้เวลาต่อมาเขาได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น
“ช่วงที่เราเรียนช่วงนั้น ก็ถือว่าโชคดี ที่ได้โควต้าไปทำงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งอาจารย์ที่สอนเราเขาก็ทำหน้าที่เกี่ยวกับสหกรณ์การเกษตรด้วย ท่านก็จะพาเราไปดูงานที่เกี่ยวกับเกษตร ทั่วประเทศญี่ปุ่น เราก็ได้มาเกิดแนวคิดว่า เกษตรบ้านเรานี่นับว่าโชคดีกว่าที่นั่น เพราะที่เขามีฤดูหนาวด้วย ผักที่เขาปลูกนี่จะตายหมดเลย หลังจากกลับมาอยู่บ้านที่โคราช ก็เลยมาทดลองเลี้ยงสัตว์บ้าง ปลูกผักแบบผสมผสานตั้งแต่นั้นมา” คุณอภิศักดิ์ กล่าว
สัตว์ที่เขาเลี้ยงเริ่มแรกจะเป็นเป็ดไข่นับหมื่นตัว แต่ต้องมีเหตุให้เลิกเลี้ยงไป เพราะอาหารที่จะให้เป็ดไข่กินนั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ ต่อมาก็เริ่มทำสวนผักแบบผสนผสานไปด้วย ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
“แรกๆ ที่ผมทำสวนใหม่ๆ ปลูกแต่ถั่วฝักยาว พอผลผลิตออกมามาก สรุปมันขายไม่ได้เท่าที่ควร ต่อมาก็เลยปรับเปลี่ยนมาปลูกแตงกวาบ้าง ผักชี พริก ชะอม สรุปว่าขายได้ทั้งหมดที่เราปลูก ถือว่าประสบผลสำเร็จดี ต่อมาก็เลยเริ่มเลี้ยงหมู ก็จะเน้นหมูป่า เพราะกินง่าย แถมได้ราคาดีกว่าหมูทั่วไป” คุณอภิศักดิ์ บอก
ซึ่งเขาบอกว่า การเลี้ยงหมูป่าไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องขยันหาอาหารให้หมูป่าเท่านั้น โดยอาหารที่ให้หมูกินจะเป็นเศษอาหารที่ได้จากร้านก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่โรงอาหารที่โรงเรียนก็จะมีเศษอาหารพวกนี้อยู่ เขาก็จะไปแสวงหาเพื่อให้ประหยัดต้นทุนมากสุด
“เวลาที่เราไปหาเศษอาหารให้หมู บอกเลยว่าต้องใช้ คำว่า ด้านได้ อายอด ถ้าเราไปมัวแต่อายอยู่ มันจะทำให้จำนวนต้นทุนเราไม่ลดลง ถ้าเราซื้อแต่หัวอาหารตลอด กำไรที่เราได้จะน้อยลง อย่างหมูป่าบอกเลยว่าเลี้ยงง่าย กินง่าย ผักบุ้ง ต้นกล้วย นี่กินได้หมดไม่เลือกเลย” คุณอภิศักดิ์ เล่าถึงการลดต้นทุน
เลี้ยงหมูป่าให้ได้อายุประมาณ 6 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้ โดยการตลาดส่วนใหญ่ คุณอภิศักดิ์ บอกว่า จะเน้นจำหน่ายช่วงเทศกาล เพราะคนที่ซื้อจะเตรียมต้อนรับลูกหลานที่กลับมาบ้านช่วงวันหยุดยาว โดยเขาก็จะจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยชำแหละเพื่อจำหน่ายในช่วงนั้น
“เมื่อก่อนเราขายยกตัวมันไม่คุ้ม เพราะว่ามันได้ตัวละ 1,500-2,000 บาท เราก็เลยมาคิดใหม่ ชำแหละแทน ช่วงที่ขายได้ดีมากๆ ก็ช่วงปีใหม่และก็สงกรานต์ โดยเราก็จะเอาตัวผู้มาชำแหละขาย ส่วนตัวเมียเราก็เก็บไว้ ทำด้วยวิธีนี้ก็ได้หลักหมื่นต่อตัว ซึ่งดีกว่าขายยกตัว” คุณอภิศักดิ์ กล่าวถึงการจำหน่ายหมูป่า
แม้จะดูเป็นการทำเกษตรที่เล็กๆ ใช้พื้นที่น้อยเพียง 2 ไร่ ก็ตาม แต่สำหรับคุณอภิศักดิ์แล้วดูมีความสุขมากที่ได้ทำ เพราะไม่ต้องกลัวเรื่องการขาดทุน ไม่ต้องกลัวว่าผลผลิตเกษตรตัวไหนจะล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เพราะเขามีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย สามารถจำหน่ายหาเงินแบบมีความสุขได้ตลอดทั้งปีกันเลยทีเดียว
source: technologychaoban.com/livestock-technology/article_4444