data-ad-format="autorelaxed">
วิกฤติยางพาราไทย
สถานการณ์ราคายางพาราของไทย ในปัจจุบัน ที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับราคาประมาณ 50 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับยางแผ่นดิบ มีสูงขึ้นบ้าง ลดลงบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก แม้จะมีปัจจัยบวกมากระตุ้นบ้าง แต่ก็มีปัจจัยลบ เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้รับซื้อยางรายใหญ่ของไทย ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เป็นต้น
นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยาง กล่าวว่า ในยุคราคายางต่ำเช่นนี้ กยท. ต้องมีบทบาทในการแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งขณะนี้มีปราชญ์ชาวบ้านสามารถเพิ่มผลผลิตยางพาราได้ถึง 350 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลรักษายาง หรือหายางพันธุ์ดีมาปลูกเมื่อถึงเวลาที่จะต้องโค่นยางเก่า เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้อย่างน้อย 300 กิโลกรัมต่อไร่ หากเกษตรกรสามารถทำได้ แม้ยางพาราราคาตกต่ำเหลือแค่ 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม ก็สามารถอยู่รอดได้
ด้าน นายชวินทร์ ศรีโชติ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรจะต้องพัฒนาตัวเอง หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตให้ได้ เพราะราคายาง เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งในปัจจุบันความต้องการใช้ยางก็ยังมีอยู่ บริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ ๆ ในประเทศ ก็ยังมีการลงทุนเพิ่ม หรือแม้แต่ล้อยางของประเทศจีนที่ถูกสหรัฐอเมริกาห้ามนำเข้า ก็หันมาลงทุนในประเทศไทย แทน ฉะนั้นยางยังมีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ กรรมการ กยท. ผู้แทนภาคเกษตรกรและประธานสภาบัตรเกษตรกร กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางจะมีความมั่นคงและสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ และค่อย ๆ พัฒนาให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม มีการแปรรูปยางค่อยเป็นค่อยไปจากการแปรรูปพื้นฐาน ก้าวไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ โดยจะต้องศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ต้องรู้ว่าตลาดต้องการอะไร ซึ่ง กยท. พร้อมให้การสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ และงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติ กยท.
ส่วน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.มีแผนที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาคุณภาพยางของไทยขึ้นสู่เกรด พรีเมี่ยม ให้มีมาตรฐานที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะพัฒนาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางคือ พันธุ์ยางที่มีคุณภาพ การดูแลรักษา การให้ปุ๋ย จนถึงการกรีดยาง และการแปรรูปที่มีคุณภาพ จะมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่ง กยท.พร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ กยท. จะพยายามนำยางออกจากสินค้าโภคภัณฑ์ให้ได้บางส่วน เพื่อให้ราคา ส่วนหนึ่งไม่ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ มากขึ้น
“เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง กยท. ในฐานะผู้บริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้านยางพาราในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรับซื้อน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางก้อนถ้วย การแปรรูปผลผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นยางแผ่นรมควัน ยางเครพ สู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา เป็นต้น” ผู้ว่าการ กยท.กล่าว
อย่างไรก็ตามการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารานั้น เนื่องจากเกษตรกรชาวสวนยางของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีศักยภาพไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องรวมกลุ่ม ซึ่ง กยท.ก็พร้อมให้การสนับสนุนทั้งแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีในการแปรรูป
สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางนอกจากการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตแล้ว การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนยางโดยการทำแบบผสมผสาน ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าราคายางพาราจะวิกฤติแค่ไหน ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายที่ประสบผลสำเร็จในการทำสวนยางผสมผสานในขณะนี้
ที่สำคัญสามารถลดจำนวนต้นยางในการปลูกต่อไร่ได้ จากเดิมไร่ละไม่น้อยกว่า 76 ต้น เหลือไร่ละ 40 ต้น เพื่อให้มีพื้นที่เหลือในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือทำการเกษตรในด้านอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงโดยที่ยังได้รับความช่วยเหลือในการปลูกยางใหม่ ทดแทนยางเก่าที่โค่นในอัตราเดิมคือไร่ละ 16,000 บาท เช่นเดิม
source: dailynews.co.th/agriculture/524651