ชาวสวนยาง จ.สุรินทร์ เรียกร้องให้ใช้กรดฟอร์ริคเพื่อเรียกความเชื่อมั่นคุณภาพยางภาคอีสานคืนมา ขณะที่เกษตกร จ.ยโสธร ประกาศขายสวนยางพาราทิ้ง หลังเกิดผลกระทบจากข่าวบริษัทยางรถยนต์ไม่รับซื้อ
เกษตรกรชาวสวนยางพาราใน ต.หนองคู อ.เมือง จ.ยโสธร และอีกหลายพื้นที่ได้ติดป้ายขายสวนยางพารา ทั้งๆที่ต้นยางพาราอยู่ระหว่างการกรีดน้ำยางส่งขาย เนื่องจากไม่มั่นใจกับสถานการณ์ราคายางพารา หลังจากมีข่าวว่า 2 ค่ายผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ ประกาศไม่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสาน เพราะมีส่วนผสมของกรดซันฟูลิค หรือกรดกำมะถัน ทำให้ยางพาราด้อยคุณภาพ
ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราใน จ.ยโสธร หลายราย หยุดการกรีดยางในช่วงนี้ และหลายรายตัดสินใจประกาศขายสวนยางพาราของตนเอง เพราะมองว่าไม่คุ้มทุนในระยะยาว โดยปัจจุบันพ่อค้าคนกลางรับซื้อยางก้อนถ้วยราคากิโลกรัมละ 20-22 บาท เท่านั้น
ส่วนที่ จ.สุรินทร์ เกษตรกรชาวสวนยางยังคงทำการกรีดยาง และมีการซื้อขายยางพารากันตามปกติ จากการตรวจสอบพบว่า ชาวสวนยางนิยมใช้กรดซันฟูลิค และกรดฟอร์มิค เพื่อทำเป็นยางก้อนถ้วยขายในสัดส่วนที่พอๆกัน
นายสำราญ เมินดี อายุ 37 ปี ชาวสวนยางพารา ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ บอกว่า ทุกวันนี้ชาวสวนยางในพื้นที่กว่าร้อยละ 50 มีการใช้กรดฟอร์มิค ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ ที่ทำให้ยางแข็งตัวช้าอยู่ ส่วนที่เหลือก็ยังใช้ กรดซันฟูลิค หรีอกรดกำมะถัน ที่มีราคาถูก และทำให้ยางแข็งตัวเร็ว ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครสะดวกที่จะใช้ตัวไหน
ด้านนายสันต์ อยู่บาง นายกสมาคมชาวสวนยาง จ.นครพนม และกรรมการสมาคมสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการใช้กรดซันฟิวริค ผสมในน้ำยาง ได้ส่งผลทำให้ราคายางในภาคอีสานตกต่ำ จึงอยากให้บริษัทผู้ผลิตยาง พิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะเกษตรกรถูกกดราคา พร้อมท้าพิสูจน์ ยืนยันว่ายางในพื้นที่ภาคอีสาน มีคุภาพปลอดสารซันฟิวริคเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะมียางพาราบางส่วนที่มีปัญหา ดังนั้นจึงไม่ควรเหมารวมทั้งหมด
cr.ธงชัย/ยโสธร
cr.ธนินทัศน์/สุรินทร์
cr.พัฒนพงษ์/นครพนม
source: thaich8.com/news_detail/12199