data-ad-format="autorelaxed">
วัว-ควาย
ปศุสัตว์ส่งฝูงวัว-ควาย 2,000 ตัว หนุนเกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่ไม่เหมาะสมนำร่อง13 จว.มุ่งปรับเปลี่ยนอาชีพเพิ่มรายได้ 2 แสนบาท/ปี จ่อล็อตใหญ่อีกกว่า 1.45 แสนตัวปี60
นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคและกระบือ ตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุกหรืออะกริแม็ป (Agri-Map) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้งบประมาณโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งปี 2559 นี้ มีเป้าหมายนำร่องส่งเสริมเกษตรกรใน 13 จังหวัด
ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุทัยธานี นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี มุกดาหาร อุดรธานี เชียงราย พะเยา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าวมาเลี้ยงกระบือทดแทน จำนวน 1,400 ตัว และโคเนื้อ 600 ตัว เกษตรกรรวม 400 ราย พร้อมส่งเสริมให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ รวม 2,000 ไร่ หรือรายละ 5 ไร่ เพื่อสร้างอาชีพใหม่ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น
โครงการฯมีแผนเร่งส่งมอบโคและกระบือตั้งท้องหรือติดลูกให้เกษตรกรไปเลี้ยงรายละ 5 ตัว โดยเกษตรกรต้องส่งคืนลูกโคและกระบือเพศเมียอายุ 18 เดือน 5 ตัวแรกของฝูงภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนที่เหลือจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกร จากนั้นโครงการฯจะนำลูกโคและกระบือที่ได้รับคืนขยายผลสู่เกษตรกรรายใหม่อีก 400 ราย โดยยึดเงื่อนไขเดียวกัน คือ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ S3 และ N มาปลูกพืชอาหารสัตว์รายละ 5 ไร่ รวมพื้นที่ 2,000 ไร่
“ทุก 5 ปี เมื่อเกษตรกรนำลูกโคกระบือเพศเมียส่งคืนแก่โครงการฯ คาดว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ S3 และ N เพิ่มเติม จำนวน 2,000 ไร่โดยไม่ใช้งบประมาณ ขณะเดียวกันยังขยายผลไปสู่เกษตรกรรายใหม่ได้อีก 400 ราย โคและกระบือกว่า 2,000 ตัว ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายลูกโคและกระบือ รายละไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท/ปี ทั้งยังมีรายได้จากการจำหน่ายมูลโค-กระบือแห้งปีละ ประมาณ 2 หมื่นบาท หากนำไปหมักจะเพิ่มมูลค่าตันละ 4,000-5,000 บาท หรือประมาณ 4-5 หมื่นบาท/ปี และเกษตรกรสามารถนำมูลโค-กระบือไปใส่ในแปลงปลูกพืชอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี และเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้อีกด้วย” รองอธิบดีฯ กล่าว
ทั้งนี้ ในระยะยาวกรมปศุสัตว์ได้มีแผนที่จะส่งเสริมพื้นที่อีสานใต้ให้เป็นแหล่งผลิตกระบือแหล่งใหญ่ของประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดกระบือในรูปแบบปศุสัตว์แปลงใหญ่ด้วย อย่างไรก็ตาม ปี 2560 กรมปศุสัตว์ได้มีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อลดปริมาณผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกตามนโยบายรัฐบาล
โดยกรมปศุสัตว์มีเป้าหมายส่งเสริมเกษตรกรปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวลง จำนวน 1.5 แสนไร่ ในจำนวนนี้เป็นการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเลี้ยงโคเนื้อทดแทน 1.2 ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวลงรายละ 5 ไร่ จะได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์โคเนื้อไปเลี้ยง จำนวน 5 ตัว รวม 1.2 แสนตัว ผ่านระบบเงินกู้ยืมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 และภาครัฐจะจ่ายชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3
“ส่วนพื้นที่ 2.5 หมื่นไร่ จะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงกระบือ 2.5 หมื่นตัว รายละ 5 ตัว โดยใช้เงื่อนไขเดียวกันกับโคเนื้อ พร้อมส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาเลี้ยงแพะ จำนวน 2,500 ไร่ โดยเกษตรกรต้องลดพื้นที่ปลูกข้าว 5 ไร่ จะได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์แพะ จำนวน 30 ตัว และพ่อพันธุ์ 2 ตัว โดยเน้นส่งเสริมเกษตรกรเครือข่ายการผลิตแพะเพื่อการส่งออกไปยังเวียดนาม และอีก 2,500 ไร่ จะส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกพืชอาหารสัตว์ทดแทน เช่น หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 หญ้าแพงโกล่า และหญ้ารูซี่ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งโคเนื้อ กระบือ และโคนม เป็นต้น คาดว่า จะช่วยลดการขาดแคลนโคเนื้อของประเทศได้อีกทางหนึ่ง”นายสัตวแพทย์ไพโรจน์กล่าว
source: komchadluek.net/news/agricultural/237680