data-ad-format="autorelaxed">
การเลี้ยงโคเนื้อ
1. เหตุผลความเหมาะสม
การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพที่เกษตรกรมีความคุ้นเคย มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงมาเป็นเวลานาน การเลี้ยงสามารถดำเนินการได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ และเนื้องจากความต้องการในการบริโภคเนื้อโคมีมากในขณะที่มีผู้เลี้ยงน้อย ตลาดจึงมีความต้องการสูง ทำให้อาชีพการเลี้ยงโคเนื้อไม่มีปัญหาในด้านราคาและการจำหน่ายเหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ นอกจากนี้แล้วโคเนื้อยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ และผลพลอยได้ทางการเกษตรที่มีอยู่มากในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มากขึ้นได้
2. เงื่อนไขความสำเร็จ
2.1 มีสถานที่เพียงพอในการจัดทำคอก หรือโรงเรือนสำหรับเลี้ยงดู และแปลงพืชอาหารสัตว์ ที่ตั้งของโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงต้องอยู่ในพื้นที่ดอน ไม่มีน้ำท่วมขัง
2.2 ต้องมีแหล่งทุ่งหญ้าธรรมชาติสำหรับปล่อยเลี้ยงโค หรือสามารถจัดหาหญ้าหรืออาหารหยาบอื่น ๆ ให้กินได้อย่างเพียงพอ ตลอดทั้งปี
2.3 ต้องมีพ่อพันธุ์สำหรับคุมฝูง หรืออยู่ใกล้หน่วยที่ให้บริการผสมเทียม
2.4 ต้องอยู่ใกล้ตลาดนัดซื้อ-ขายโค หรือมีตลาดรองรับที่ชัดเจน
3. เทคโนโลยีและกระบวนการผลิต
3.1 พันธุ์โค
เกษตรกรสามารถเลือกเลี้ยงโคได้หลายพันธุ์ เช่น โคพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ อาทิ โคขุน (ภาคใต้) โคขาวลำพูน (ภาคเหนือ) โคลาน (ภาคกลาง) และโคอีสาน เป็นต้น หรือโคเนื้อลูกผสมที่เกิดจากโคพื้นเมืองกับโคพันธุ์บราห์มัน หรือพันธุ์ชาร์โรเลส์ เป็นต้น โดยคุณสมบัติของโคแต่ละพันธุ์ก็จะแตกต่างกันไป เช่น โคพื้นเมืองจะมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ผสมติดง่ายให้ลูกเร็วลูกดกและเลี้ยงง่าย แต่จะมีการเจริญเติบโตช้า ตัวเล็ก ให้ผลผลิตเนื้อน้อยกว่าโคลูกผสม ซึ่งมีโครงร่างใหญ่
3.2 การจัดการเลี้ยงดู
เกษตรกรควรเริ่มต้นจากการเลี้ยงโคสาว หรือโคสาวอุ้มท้องหรือโคลูกติด จำนวนที่เลี้ยงจะขึ้นกับต้นทุนที่เกษตรกรมีแต่เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนและแรงงานที่ใช้ในการเลี้ยงเกษตรกรควรเลี้ยงตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไปต่อครอบครัว การเลี้ยงจะใช้วิธีกึ่งขังกึ่งปล่อย โดยจะปล่อยโคออกหากินพืชหญ้าในแหล่งธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสาธารณะหรือทุ่งหญ้าที่ปลูกสร้างขึ้น แล้วนำเข้าขังคอกในช่วงตอนเย็นโดยจะมีโรงเรือน หรือไม่มีก็ได้ แต่ต้องมีเพิงพักที่สามารถป้องกันแดดและฝนได้ หลังคาทำด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น หลังคาหญ้าจากหรือหญ้าแฝก พื้นจะเป็นพื้นดินอัดแน่น หรือพื้นซีเมนต์ก็ได้ แต่ต้องมีความสะดวกในการทำความสะอาด และสามารถขนย้ายมูลโคออกได้สะดวกในคอกพัก หรือโรงเรือนควรมีรางน้ำ และอาหารให้เพียงพอกับจำนวนโคที่เลี้ยง ต้องมีน้ำสะอาดและแร่ธาติก้อนให้โคกินตลอดเวลา ในช่วงฤดูที่พืชอาหารหยาบขาดแคลนควรมีการเสริมพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี หรืออาหารข้นกินเพิ่มเติม โดยเฉพาะในระยากรเลี้ยงที่สำคัญ เช่น ช่วงแม่โคอุ้มท้อง หลังคลอดและช่วงลูกโคให้เกษตรกร พิจารณาจากลักษณะรูปร่างและความสมบูรณ์ของโคเป็นหลัก ถ้าโคผอมก็ควรเสริมอาหารเพิ่มเติม แม่โคจะเริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1.5 ปี ในโคพื้นเมือง และ 2 ปี ในโคลูกผสม ถ้าเกษตรกรใช้พ่อพันธุ์คุมฝูง พ่อพันธุ์ 1 ตัว ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป จะคุมฝูงแม่พันธุ์ได้ 25 – 30 ตัว แต่ถ้าพ่อพันธุ์อายุน้อยจะคุมฝูงได้น้อยลง ถ้าเกษตรกรใช้การผสมเทียม จะต้องคอยสังเกตการณ์เป็นสัดของแม่โคซึ่งจะมีวงรอบการเป็นสัดประมาณ 21 วัน ควรผสมให้ได้ตามวงรอบ แม่โคตั้งท้องนานประมาณ 280 – 290 วัน ในช่วงคลอดผู้เลี้ยงควรเข้าช่วยเหลือในการคลอด และให้ลูกโคกินนมน้ำเหลืองจากแม่โคโดยเร็วที่สุด ลูกโคจะหย่านเมื่ออายุประมาณ 6 – 7 เดือน โคทุกตัวควรได้รับการดูแลสุขภาพ ควรถ่ายพยาธิเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง และต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย ตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ การจำหน่ายโคเนื้อจะสามารถจำหน่ายได้ตั้งแต่ลูกโคหย่านมเป็นต้นไป แม่โคพื้นเมืองจะสามารถให้ลูกโคปีละ 1 ตัว เป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเป็นโคลูกผสมจะสามารถให้ลูกได้ 1 – 2 ตัว เป็นอย่างน้อย
4. ต้นทุนและผลตอบแทน
4.1 ต้นทุน
ในการเลี้ยงโคเนื้อ 1 ตัว ช่วงระยะเวลาการเลี้ยงดู 5 ปี เกษตรกรจะมีค่าใช้จ่าย คือ ค่าพันธุ์โคสาว หรือโคสาวอุ้มท้อง ค่าอาหารเสริมและแร่ธาตุ ค่าเวชภัณฑ์ ยาบำรุงย่ถ่ายพยาธิ ค่าพืชพันธ์อาหารสัตว์ ค่าปรับปรุงซ่อมแซมคอก โรงเรือน รางน้ำ รางหญ้า และอื่นๆ รวมเฉลี่ยประมาณ 30,000 – 32,000 บาท/ตัว
1.2 ผลตอบแทน
เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายลูกโคหย่านมในช่วงเวลา 5 ปี แม่โค 1 ตัว จะให้ลูกประมาณ 3 – 4 ตัว จำหน่ายได้ในราคาตัวละประมาณ 8,000 – 10,000 บาท มีผลตอบแทนประมาณ 32,000 – 40,000 บาท และจะมีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายมูลโคแห้งประมาณ 6,000 บาท/ตัว โดยจะเริ่มคุ้มทุนในปีที่ 2 หรือ 3 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนและผลตอบแทนดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามแหล่งที่เลี้ยงและสภาวะการตลาดรวมทั้งขยาดการผลิต