data-ad-format="autorelaxed">
ไทยฮั้ว ยางพารา
ไทยฮั้วยางพารา ดึง “ไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์” บริษัทรัฐวิสาหกิจด้านยางพารารายใหญ่สุดของจีนถือหุ้นในบริษัท 59% เสริมแกร่งธุรกิจระยะยาว ประเดิมร่วมลุยตั้งโรงงานยางแท่งอีก 8 แห่ง เพิ่มกำลังการผลิตอีกปีละ 5 แสนตัน เตรียมประกาศเปิดตัวและฉลองร่วมทุน 26 ส.ค.นี้ เล็งปีหน้าเพิ่มยอดส่งออกเป็น 3 หมื่นล้านบาท
นายหลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหาร บริษทั ไทยฮั้วยางพาราจำกัด (มหาชน) (บมจ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการเจรจากับผู้บริหารของบริษัทไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านยางพารารายใหญ่สุดของจีน โดยทางไทยก๋วงเขิ่นจะเข้ามาถือหุ้นใน บมจ.ไทยฮั้วยางพาราสัดส่วน59% และอีก 41% ถือหุ้นโดยฝ่ายไทยจะมีพิธีประกาศและฉลองการร่วมทุนดังกล่าวในวันที่ 26 สิงหาคมนี้
สำหรับการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับทางไทยฮั้วในระยะยาว และจะมีการปรับโครงสร้างการบริหารให้มีความกระชับและมีประสิทธิภาพต่อไป เบื้องต้นทางไทยก๋วงเขิ่น จะช่วยเพิ่มทุนจดทะเบียนในไทยฮั้ว จากเดิมมีทุนจดทะเบียน 2,300 ล้านบาท เพิ่มเป็น 6,900 ล้านบาท รวมถึงร่วมลงทุนในโรงงานผลิตยางแท่ง ที่ไทยฮั้วได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)อีก 8 แห่ง/โรง (จากเดิมไทยฮั้วมีโรงงานผลิตยางแท่งอยู่แล้ว 18 แห่ง เพิ่มเป็น 26 แห่ง) ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตยางแท่งจากเดิมมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 7 แสนตัน เพิ่มอีกปีละ 5 แสนตัน รวมเป็น 1.2 ล้านตันต่อปี โดยโรงงานผลิตยางแท่งที่จะเพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะมีกำลังผลิตปีละ 6 หมื่นตันต่อปี/โรง ใช้เงินลงทุนประมาณแห่งละประมาณ 400 ล้านบาท หรือรวมประมาณ 3,200 ล้านบาท โรงงานทั้ง 8 แห่ง จะตั้งที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี จะทยอยแล้วเสร็จภายใน 3 ปี(ภายในปี 2563)
“ที่มาที่ไปของการร่วมทุนครั้งนี้ เกิดจากเรารู้จักทางไทยก๋วงเขิ่น รับเบอร์มานานเป็น 10 ปีแล้ว เขาเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือ ทำธุรกิจโปร่งใส และเป็นมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจของไทยก๋วงเขิ่น ในไทย มีโรงงานผลิตยางแท่ง โรงงานน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่น รวม 5 แห่งที่อุดรธานี สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล และชุมพร สินค้าที่ผลิตได้ส่งออกไปตลาดจีน 100% ซึ่งการเจรจาร่วมทุนในครั้งนี้ใช้เวลานาน 8-9 เดือน และประสบผลสำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้กลุ่มก๋วงเขิ่นยังมีธุรกิจสวนยางและโรงงานยางแท่งในมาเลเซีย มีโรงงานยางแท่งในอินโดนีเซีย และมีสวนยางในกัมพูชา”
ขณะเดียวกันธุรกิจของกลุ่มก๋วงเขิ่นในประเทศจีนมี 9 ธุรกิจหลัก อาทิ มีการทำสวนยางมานานกว่า 60 ปี มีโรงงานอ้อยและน้ำตาล มีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม มีสหกรณ์แท็กซี่ มีธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสุกร ฟาร์มเลี้ยงโคนมและแปรรูปนมขายให้กับโรงเรียนและขายทั่วไป มีธุรกิจโรงเรียนและมหาวิทยาลัย มีพนักงานรวมกว่า 3 แสนคน และมีรายได้รวมของกลุ่มในแต่ละปีตกประมาณ 1.7 แสนล้านหยวน
นายหลักชัยกล่าวว่า การดึงไทยไทยก๋วงเขิ่น มาร่วมทุนในครั้งนี้ นอกจากผลประโยชน์ทางธุรกิจและช่วยมาเติมเต็มในส่วนของเงินทุนขยายกิจการของไทยฮั้วข้างต้นแล้ว ทั้ง 2ฝ่ายยังมีความตั้งใจที่จะร่วมกันพัฒนาธุรกิจยางพาราให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาง และสนองนโยบายของรัฐบาลในการช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำทั้งระบบ และเพื่อผลักดันให้ธุรกิจยางพาราของไทยกลับมาเฟื่องฟูดังเดิม
ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยฮั้วได้ส่งออกไปยัง 76 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการร่วมทุนกับไทยก๋วงเขิ่น ในครั้งนี้จะมีการขยายตลาดโดยหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดีการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยฮั้ว ในปีนี้คาดจะส่งออกได้ไม่เกิน 3 แสนตัน มูลค่าประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายตั้งไว้ที่ 5 แสนตัน มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ดูแล้วคงไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านบริษัทยุ่งอยู่กับการเจรจาร่วมทุนกับไทยก๋วงเขิ่น ขณะที่การส่งออกยางพาราชะลอตัวลงจากรัฐบาลขอความร่วมมือในการลดส่งออกยางเพื่อดันราคา และการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้คงช่วยไม่ได้มาก
“เราจะเริ่มต้นใหม่ในปีหน้า คาดยอดส่งออกในปี 2560 จะขึ้นไปที่ 6 แสนตัน มูลค่า ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ผลจากมีการขยายการผลิต และคาดราคายางจะปรับตัวดีขึ้น”
source: thansettakij.com/2016/08/27/89049
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559