data-ad-format="autorelaxed">
การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
การเลือกพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะสม
การเลือกพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาทำการปลูกนั้นถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากการเลือกพันธุ์นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ช่วงเวลา การระบาดของโรคแมลงในพื้นที่เราจะทำการผลิต หากเลือกชนิดของพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมแล้วจะส่งผลต่อการผลิตข้าวโพดทั้งกระบวนการ ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกพันธุ์ข้าวโพด
- ศักยภาพในการให้ผลผลิต ควรเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง และปรับตัวได้ดีในสภาพแปลงโดยสังเกตจากแปลงสาธิต แปลงทดสอบในแต่ละพื้นที่
- ความทนทานหรือ ต้านทานโรค ควรเป็นพันธุ์ที่สามารถทนทานหรือต้านทานโรคที่สำคัญในพื่นที่การผลิตได้
- อายุเก็บเกี่ยว ควรเลือกพันธุ์ที่มีอายุเหมาะสมกับระบบการผลิต การปลูกพืชหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพด หรือ การเก็บเกี่ยวก่อนน้ำท่วม เป็นต้น การแบ่งชนิดพันธุ์ตามอายุเก็บเกี่ยวได้ดังนี้
อายุสั้น หรือเก็บเกี่ยวเร็ว อายุประมาณ 100-110 วัน นับตั้งแต่หลังวันปลูก
อายุปานกลาง หรือเก็บเกี่ยวปานกลาง อายุประมาณ 110-120 วัน นับตั้งแต่หลังวันปลูก
อายุยาว หรือเก็บเกี่ยวช้า อายุประมาณ 120 วันขึ้นไป นับตั้งแต่หลังวันปลูก
ฤดูปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะสม
- ต้นฤดูฝน ปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนมิถุนายน ตามสภาพฝนแต่ละพื้นที่
- ปลายฤดูฝน ปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม
- ฤดูแล้ง ปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธ์ (พื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยวข้าว และพื้นที่ชลประทาน)
การเตรียมดิน สำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
วัตถุประสงค์ของการเตรียมดิน เพื่อให้ดินเหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดข้าวโพด ช่วยเก็บรักษาความชื้นอยู่เสมอ ช่วยให้ดินมีอากาศถ่ายเทสะดวก และทำลายวัชพืชให้แห้งตายหรือฝังกลบซากวัชพืชเดิม
การเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงแบ่งออกได้ 2 วิธี ดังนี้
1. การไม่ไถพรวน มักทำในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง หรือพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวข้าว จะทำโดยการตัด ถาง เพื่อกำจัดวัชพืชที่อยู่ผิวหน้าดินที่เป็นอุปสรรคในการปลูกและงอกของข้าวโพดออกไป
2. การไถพรวน ควรไถอย่างน้อย 2 ครั้ง
2.1. ไถดะ การไถด้วยผาน 3 หรือผาน 7 ควรไถให้ลึกประมาณ 30 ซม.เพราะการไถลึก จะช่วยทำให้ดินเก็บน้ำได้มาก และกลบฝังเศษวัชพืชได้ลึกไม่เป็นอุปสรรคในการหยอดเมล็ด จากนั้นตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน เพื่อทำลายวัชพืชและศัตรูพืชในดินบางชนิด
2.2. ไถแปร ควรไถด้วยผาน 7 โดยไถขวางรอยเดิมของไถดะเพื่อย่อยดินก้อนใหญ่ให้แตก ทำให้ดินร่วนซุย โปร่งมากขึ้นเพิ่มผิวสัมผัสระหว่างดินกับเมล็ด ทำให้เมล็ดพันธุ์ดูดความชื้นได้ดีและงอกได้อย่างสม่ำเสมอ
2.3 ไม่ควรไถดินในขณะที่ความชื้นในดินสูง เพราะจะทำให้ดินแน่น และเกิดชั้นดินดาน ทำให้การระบายน้ำในดินไม่สะดวก และดินเป็นก้อนแข็งจะส่งผลต่อการงอกของเมล็ดข้าวโพด
การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1. ใช้เครื่องปลูก ซึ่งมีหลากหลายแบบในปัจจุบันทั้งแบบ 2,3 และ 4 แถว ตามความเหมาะสมของพื้นที่จุดสำคัญจะที่การเลือกรูจานหยอดให้เหมาะกับขนาดของเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ เมล็ดเล็กขนาด 3หุน, ขนาดกลาง 3.5หุน และขนาดใหญ่ 4 หุน ซึ่งจะระบุไว้ที่ถุง ระยะห่างระหว่างแถว 70 ซม. ระยะระหว่างหลุมประมาณ 18-20 ซม. โดยปริมาณเมล็ดที่ใช้จะประมาณ 3 - 3.3 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ด และ จะมีจำนวนต้นข้าวโพด/ไร่ ประมาณ 11,428-12,698 ต้นต่อไร่ ควรหยอดเมล็ดข้าวโพดให้ลึก 5-7 เซนติเมตร
2. ใช้คนปลูก ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะทางภาคเหนือ จะใช้เชือกในการกำหนดระยะให้มีระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70 ซม. ระยะระหว่างหลุมประมาณ 35-40 ซม. แล้วใช้จอบขุดให้ลึก 5-7 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 เมล็ดต่อหลุม แล้วกลบ
โดยจำนวนเมล็ดที่หยอดในวิธีต่างๆ จะขึ้นอยู่กับปริมาณต้นที่ต้องการต่อไร่, เปอร์เซนต์ความงอกของเมล็ดพันธุ์ และ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ว่า นั้นทนกับการปลูกถี่ได้ดีเพียงใด สิ่งที่ต้องคำนึงหากต้องการให้การปลูกได้ประสิทธิผลสูงคือการตรวจแปลงก่อนการปลูกว่าแปลงปลูกมีสภาพดีพร้อมปลูกหรือไม่ ทั้งเรื่องความชื้นในดินมีเพียงพอต่อการงอกของเมล็ดหรือไม่ และลักษณะพื้นผิวดินเป็นอุปสรรคในการหยอดหรือไม่
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องหยอด ก่อนทำการหยอดจริงจะต้องทำการทดสอบเครื่องโดยการบนลานเพื่อดูการตกของเมล็ด และการโรยปุ๋ยเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ การดำเนินการแก้ไข หากลงน้อยหรือมากเกินไปให้เปลี่ยนจานที่เหมาะสมกับขนาดเมล็ด , หากเมล็ดตกห่างกันมากเกินไปให้ปรับรอบการหมุนจานให้สัมพันธ์กับความเร็วของรถลาก และการปรับการลงของปุ๋ยให้ดูขนาดของรู กับความเร็วรอบในการหมุนของแกนตักปุ๋ยให้สัมพันธ์กับความเร็วของรถลาก
สิ่งสำคัญที่จะช่วยการปลูกการปลูกประสบผลสำเร็จคือการตรวจแปลงในช่วง 5-10 วันหลังการปลูกเพื่อสุ่มตรวจนับประมาณปริมาณต้นกล้าที่งอกขึ้นมา ว่ามีประมาณตรงตามที่ต้องการหรือไม่ โดยทั่วไปไม่ควรน้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรที่ทำการสุ่มนับ เมื่อทราบจำนวนต้นก็ใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจ ว่าจะทำการปลูกใหม่ ปลูกซ่อม หรือถอนแยกต้น เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์
การใส่ปุ๋ย แบ่งได้ 2 ครั้งประมาณและชนิดขึ้นอยู่กับผลการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการปลูก เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับการสร้างผลผลิตได้เต็มที่ แต่โดยทั่วไปจะใช้ปุ๋ย ดังนี้
1. ปุ๋ยรองพื้น ควรใส่รองก้นหลุม หรือโรยเป็นแถวแล้วกลบพร้อมปลูก ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 หรือปุ๋ยทั้งสองผสมกัน 1:1ในปริมาณ 35-40 กิโลกรัม/ไร่
2. ปุ๋ยแต่งหน้า เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วัน ควรมีการใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ในปริมาณ 35-40 กิโลกรัม/ไร่
ข้อแนะนำ ควรใส่ปุ๋ยพร้อมกับการกำจัดวัชพืชเมื่อข้าวโพดอายุได้ 20-35 วัน หรือสูงแค่เข่า โดยใส่แบบโรยข้างแถวให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ แล้วใช้ดินกลบ ในพื้นที่เป็นดินทรายหรือดินเนื้อหยาบ ควรมีการเพิ่มจำนวนครั้งการใส่ปุ๋ย โดยแบ่งจากเดิม 40 กิโลกรัม 1ครั้ง เป็น 20 กิโลกรัม 2 ครั้ง เพื่อประสิทธิภาพการใส่ปุ๋ยเนื่องจากในดินกลุ่มดังกล่าวธาตุอาหารจะถูกชะล้างไปได้ง่ายกว่า อีกประเด็นที่มีความสำคัญคือ ความเป็นกรดด่างของดิน หากมีค่าต่ำหรือสูงเกินไปจะทำให้ข้าวโพดดูดใช้ธาตุอาหารได้น้อยลง ระดับความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมของข้าวโพดอยู่ที่ 5.7-6.3 การแก้ไขปรับได้โดยการใช้โดโลไมค์และการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
การกำจัดวัชพืช
ช่วงวิกฤตที่ข้าวโพดอ่อนแอต่อวัชพืชที่สุดคือระยะ 13-25 วัน หลังงอก ระยะนี้ถ้ามีวัชพืชรบกวนจะทำให้ผลผลิต ข้าวโพดเสียหายสูงสุด ดังนั้นการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง ดังนั้นจึงต้องให้แปลงปลอดวัชพืช ตลอดช่วง 1 เดือนแรกตั้งแต่ปลูก การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชชนิดก่อนงอกที่ใช้ทันทีหลังปลูกข้าวโพดหรือพ่นกำจัดวัชพืชหลังข้าวโพดและวัชพืชงอกแล้ว เป็นวิธีที่สะดวกและประหยัด ควรฉีดพ่นขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ สารเคมีที่แนะนำมีดังนี้
สารอาทราซีน ในอัตรา 500 กรัม ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่ ในขณะที่ดินมีความชื้นใช้ก่อนข้าวโพดงอก และก่อนหญ้างอกหรือหญ้างอกต้นเล็กไม่เกิน 3 ใบ) ใช้ควบคุมวัชพืชใบกว้างได้ดีเป็นพิษต่อผักและพืชตระกูลถั่ว ดังนั้นถ้าจะปลูกถั่วตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อาทราซีน
สารอะลาคลอร์ ใช้ฉีดพ่นวัชพืชก่อนข้าวโพดงอก ใช้อัตรา 500 มิลลิลิตร/ไร่ กำจัดวัชพืชใบแคบได้ดี เป็นพิษต่อข้าวฟ่าง ดังนั้นถ้าจะปลูกข้าวฟ่างตามหลังข้าวโพด ไม่ควรใช้อะลาคลอร์
หากในพื้นที่ที่วัชพืชใบแคบและใบกว้างรุนแรงควรใช้อาทราซีน 350 กรัม ผสมอะลาคลอร์ 500 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่ ในขณะที่ดินมีความชื้นใช้ก่อนข้าวโพดงอก จะสามารถควบคุมวัชพืชใบกว้างและใบแคบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การกำจัดวัชพืชหลังงอกเพื่อแหล่งอาศัยของศัตรูข้าวโพดและความสะดวกในการเก็บเกี่ยวซึ่งจะฉีดพ่นที่ระยะ 35-45 วันหลังข้าวโพดงอกสารเคมีที่ใช้จะเป็นสารพาราควอต ซึ่งสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัสตายจะใช้กำจัดวัชพืชในร่องข้าวโพดอัตราที่ใช้ 75-125 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 60-80 ลิตร พ่นในพื้นที่ 1 ไร่
ความต้องการน้ำของข้าวโพด
ข้าวโพดมีความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูปลูก ประมาณ 400-600 มิลลิเมตร
1. การใช้น้ำครั้งแรกเมื่อปลูก หลังจากไถพรวนเตรียมแปลงเสร็จ เพื่อให้ดินมีความชื้นพองอก
2. การให้น้ำในช่วงระยะการเจริญเติบโตของข้าวโพด ควรให้น้ำเพียงพอต้องความต้องการของข้าวโพด ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป เพราะจะทำให้ข้าวโพดเหลืองแคระแกร็น ผลผลิตลด และอาจตายได้ ถ้าให้น้ำมากเกินไปควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงทันที
การสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่ควรให้น้ำข้าวโพดโดยการสังเกตอาการขาดน้ำของข้าวโพด หากสังเกตเห็นข้าวโพดแสดงอาการขาดน้ำในช่วงบ่าย ให้กลับไปสังเกตในช่วงเช้าหากพบว่าแสดงอาการขาดน้ำจึงควรรีบให้น้ำ หากไม่แสดงอาการสามารถรอได้อีก 1-2 วัน เมื่อใช้วิธีการดังกล่าวจะสามารถลดรอบการให้น้ำ 2-3 ครั้ง
ข้าวโพด เป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดอายุการเจริญเติบโตแต่ความต้องการน้ำจะสูงสุด ในช่วงออกดอกและช่วงระยะต้นของการสร้างเมล็ด ถ้าหากขาดน้ำ
- ในช่วงระยะการเจริญทางลำต้นและใบ ผลผลิตจะลดลง 25%
- ในช่วงระยะออกดอกตัวผู้-ออกไหม-เริ่มสร้างเมล็ดผลผลิตจะลดลง 50%
- ในช่วงระยะหลังการสร้างเมล็ดเสร็จ ผลผลิตจะลดลง 21%
การเก็บเกี่ยวข้าวโพด
การเก็บเกี่ยวข้าวโพดให้มีคุณภาพควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัดและเก็บในช่วงที่อากาศแห้ง การสังเกตุว่าเมื่อใดสามารถเก็บเก็บได้แล้ว ให้สังเกตุที่การเปลี่ยนสีของเมล็ดจากสีเหลืองเป็นสีส้ม จากนั้นให้หักฝักดูเนื้อเยื้อระหว่างเมล็ดกับซังว่าเปลี่ยนสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำหรือไม่ หากเปลี่ยนสีเป็นสีดำก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ แต่การเก็บเกี่ยวในช่วงดังกล่าวความชื้นในเมล็ดยังสูงอยู่จะควรทำการลดความชื้นก่อนการเก็บรักษา
วิธีการเก็บเกี่ยว
1. เก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคน
1.1 การเก็บแบบปอกเปลือก
1.2 เก็บเกี่ยวโดยหักข้าวโพดทั้งเปลือก
ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะนำฝักข้าวโพดจากข้อ1.1 และข้อ1.2ได้มากระเทาะก่อนนำเมล็ดส่งขายตามลานรับซื้อต่าง ในบางพื้นที่จะนำฝักที่เก็บเกี่ยวแบบปอกเปลือกไปส่งขายตามรับซื้อด้วยเช่นกัน ในเขตพื้นที่ภาคเหนือจะนิยมเก็บเกี่ยวในแบบที่1.2 ทั้งในกลุ่มที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วสีกระเทาะ และกลุ่มที่เก็บเข้ายุ้งฉาง รอราคา
2. เก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องมือ
การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวโพด ( corn combine harvester) เครื่องชนิดนี้จะปลิดฝักข้าวโพดจากต้นแล้วสีออกเป็นเมล็ด การใช้เครื่องเก็บเกี่ยวมีข้อดีในกรณีขาดแคลนแรงงาน ทำให้ค่าจ้างเก็บเกี่ยวสูง สามารถเก็บเกี่ยวได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องเก็บเกี่ยวในพื้นที่ราบและสม่ำเสมอ ต้นข้าวโพดหักล้มน้อย ยังมีอัตราการสูญเสียเนื่องจากฝักเก็บเกี่ยวไม่หมด และมีการแตกหักของฝักและเมล็ด
ข้อมูลจาก corninfo.blogspot.com
ปุ๋ย FK-1 เร่งโต ข้าวโพสโตไว ใบเขียวเข็ม