data-ad-format="autorelaxed">
การเลี้ยงเต่า
เต่าเป็นสัตว์โบราณ กลุ่มสัตว์เลื้อยคลานพบแพร่กระจายในเขตอบอุ่นและเขตร้อน บางพวกเป็นสัตว์บก บางพวกเป็นสัตว์น้ำจืด บางพวกก็เป็นสัตว์ทะเล ชาวอังกฤษเรียกเต่าที่อยู่บนบกและเต่านํ้าจืดว่า tortoise เรียกเต่าที่กินเป็นอาหารว่า terrapin เรียกเต่าทั่วไปทั้งเต่าทะเล เต่าคอยาว รวมทั้งตะพาบนํ้าว่า turtle
การเลี้ยงเต่าเพื่อรับประทานเนื้อเป็นของใหม่สำหรับชาวไทยเพราะพุทธ ศาสนิกชนชาวไทยนิยมปล่อยเต่าเอาบุญ ชาวไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่นิยมรับประทานเนื้อเต่า เนื้อตะพาบนํ้า ไข่เต่าจาระเม็ด แต่รู้จักเครื่องใช้ เครื่องประดับที่ทำจากกระดอง “กระ” ดีว่าเป็นของราคาแพงและหายาก ปัจจุบันกรมประมงได้ทดลองนำไข่เต่าทะเลหลายชนิดมาเพาะฟักในห้องทดลอง เพื่ออนุบาลให้มีอัตรารอดตายให้มากที่สุด จนถึงระยะที่แข็งแรงแล้วจึงนำไปปล่อยเลี้ยงในธรรมชาติต่อไป การเพาะเลี้ยงเต่าในเมืองไทย ในปัจจุบันยังไม่แพร่หลาย นอกจากเลี้ยงเต่าเพื่อความสวยงาม เช่น เต่าญี่ปุ่น มีเพียงตะพาบนํ้าเท่านั้นที่มีการเพาะเลี้ยงหลายแห่งในประเทศไทย แต่สำหรับชาวต่างประเทศนั้นรู้จักการเพาะเลี้ยงเต่ามานานแล้วตั้งแต่กลางศตรรษที่ 19 เป็นต้นมา อาหารโปรดที่ทำจากเนื้อเต่าอยู่ในเมนูของภัตตาคารหลายแห่งโดยเฉพาะภัตตาคารแถบฟิลาเดลเฟีย ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย
ฟาร์มเลี้ยงเต่าทะเล เริ่มต้นไม่กี่สิบปีมานี้เองที่ฟลอริดา และแถบคาริบเบียน เป็นความพยายามเพื่อที่จะสงวนพันธุ์เต่าตนุในธรรมชาติให้คงไว้ ต่อมาได้มีการนำเต่าตนุจากธรรมชาติมาผสมกับเต่าตนุที่เลี้ยงไว้เป็นผลสำเร็จ ลูกเต่าผสมนี้สามารถกินอาหารโปรตีนสูงที่ให้ได้ดี ต่อมาได้มีการทดลองเลี้ยงเต่าหญ้าด้วยวิธีการเดียวกับเต่าตนุ
ไต้หวันเป็นชาติแรกที่เริ่มเลี้ยงตะพาบนํ้า ตั้งแต่สมัยถูกญี่ปุ่นยึดครอง เมื่อ ราคาเนื้อตะพาบนํ้าแพงขึ้น ชาวไต้หวันก็ยิ่งหันมาเลี้ยงตะพาบนํ้ามากขึ้น สำหรับในประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงตะพาบนํ้าหลายแห่งเช่นที่ เอส ยู ฟาร์ม เขตภาษีเจริญ ที่จังหวัดปทุมธานี และที่จังหวัดสมุทรสาคร
การเลี้ยงตะพาบน้ำ
ตะพาบนํ้าเป็นสัตว์ที่มีกระดองไม่แข็งนัก ขอบหรือเชิงจะนุ่มมีขาเป็นใบพาย ทั้งสี่ขา ปากเป็นตะขอ หางของตะพาบนํ้าตัวเมียจะสั้นกว่าของตัวผู้ ตะพาบนํ้าที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมีสองพันธุ์คือ พันธุ์ไทย Trionyx cartilaginous กับตะพาบไต้หวัน Trionyx sinensis ชาวไทยนิยมบริโภคตะพาบไทยเพราะมีเนื้อแข็งกว่า แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อส่งออกต้องเป็นพันธุ์ไต้หวัน เพราะมีเนื้อเหลืองและนุ่มกว่า
ในธรรมชาติตะพาบนํ้าเติบโตในแหล่งนํ้าที่พื้นเป็นโคลน ดังนั้นผู้เลี้ยงจำ เป็นต้องสร้างบ่อโคลนให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติ ตะพาบนํ้าผสมพันธุ์และวางไข่ในที่เงียบ โล่ง บ่อเลี้ยงตะพาบนํ้าควรแบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่อยู่อาศัย ส่วนให้อาหาร และส่วนการวางไข่ บ่อเลี้ยงควรเป็นผนังคอนกรีตสูง กันการหลบหนี ก้นบ่อควรเป็นดินเหนียวเพื่อป้องกันตะพาบมุดดินหลบหนี ส่วนบนของก้นบ่อควรถมทับด้วยดินโคลน ตะพาบนํ้าเป็นสัตว์ที่กินกันเอง ดังนั้นการคัดขนาดเพื่อแยกเลี้ยงเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับการเลี้ยงกบ
ตะพาบนํ้า เริ่มสืบพันธุ์ได้เมื่อมีอายุประมาณ 2 ปี แต่จำนวนไข่และอัตรา รอดของไข่จะตํ่ากว่าพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุมากกว่า ส่วนใหญ่พ่อแม่พันธุ์ที่ดีควรมีอายุ 8-9 ปีจึงจะดีมาก พื้นที่บ่อของพ่อแม่พันธุ์อาจใช้ขนาด 1-3 ตารางเมตรต่อตัว สัดส่วนตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 5 ตัว ภายในบ่อควรมีที่ลาดเอียง มีเนินทรายสะอาดสำหรับวางไข่ มีไม้กระดานวางพาดทำเป็นบันไดสำหรับให้แม่ตะพาบไต่ไปวางไข่
การผสมพันธุ์ของตะพาบนํ้า
ระหว่างผสมพันธุ์ตะพาบนํ้าตัวผู้จะกัดคอตะพาบตัวเมีย เพื่อที่จะซ้อนทับ ตัวเมีย มักเป็นตอนกลางคืนที่เงียบสงัด หลังจากนั้น 16-18 ชั่วโมง ตัวเมียจึงจะขึ้นมาวางไข่ตอนเช้ามืดในทรายที่อยู่เหนือบริเวณบ่อเพียงเล็กน้อย เพราะการฟักเป็นตัวต้องอาศัยความชื้นและอุณหภูมิสูงประมาณ 30 องศาเซลเซียส แม่ตะพาบจะขุดหลุมทราย ลึก 10-15 เซนติเมตร เมื่อวางไข่แล้วจะใช้ขาหลังพยุงไข่ลงไปในหลุม จากนั้นจะกลบจนราบเสมอกับพื้นทั่วไป จำนวนไข่ที่วางแต่ละครั้งขึ้นกับอายุของแม่ตะพาบ ถ้าอายุมากขึ้นจะวางไข่จำนวนมากขึ้นด้วย ภายในเวลาประมาณ 50 วัน ไข่จะฟักเป็นตัวด้วยอัตรารอดตายถึง 80 % (Landau, 1992) ถ้าแยกไข่ที่ผสมแล้วไปฟักในโรงเพาะฟักด้วยการควบคุมดูแลที่ดี โรงเพาะฟักควรทำเป็นคอกคอนกรีต ขนาด 2×4 เมตร สูง 50 เซนติเมตร ปรับพื้นบ่อให้เรียบเทด้วยทรายนํ้าจืดที่ขาวสะอาดสูง 30 เซนติเมตร จากนั้นนำไข่มาฝัง ในทรายที่โรงเพาะฟักที่มีหลังคาคุมเพื่อป้องกันฝน ควรรดนํ้าให้ทรายชุ่มชื้นพอควร ใกล้กองไข่ควรวางอ่างดินเผาเตี้ยๆ ใส่นํ้าไว้ให้ลูกตะพาบน้ำที่ฟักเป็นตัวลงไปเล่นนํ้า และใช้ย้ายลูกตะพาบไปยังบ่อเลี้ยงต่อไป
อาหารสำหรับลูกตะพาบที่เพิ่งฟักออกจากไข่ ได้แก่ ตัวหนอนทูบิเฟกซ์เศษกุ้ง ให้กินวันละ 2 ครั้ง ต่อมาอาจเพิ่มอาหารด้วยอาหารเลี้ยงปลาไหล เนื้อปลาบด และไข่แดงต้ม ภายใน 1 ปี ลูกตะพาบสามารถเติบโตได้หนักถึง 200 กรัมสามารถย้ายไปเลี้ยงในบ่อเต่าใหญ่ได้ด้วยอัตราปล่อย1-3 ตัว/ตารางเมตร เมื่อตะพาบโตได้นํ้าหนัก ประมาณ 600 กรัม ก็จับออกจำหน่ายได้ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี ขึ้นกับอาหาร และการดูแลที่ดี ผู้เลี้ยงควรปล่อยปลาดุกลงไปเลี้ยงรวมกันบ้าง ประมาณ 10-20 ตัว เพื่อคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากตะพาบและช่วยลดการเน่าเสียของนํ้าในบ่อด้วย
ตะพาบนํ้าต้องการอาหารประมาณร้อยละ 20 ของนํ้าหนักตัวต่อวัน อาหารของตะพาบได้แก่ ไส้เดือน แมลงในน้ำ ลูกกุ้ง ปู ปลา หอย ลูกอ๊อด และเศษเน่าเปื่อย ตลอดจนพืช ผักบุ้ง ยอดหญ้าเป็นครั้งคราว ผู้เลี้ยงควรให้อาหารพวกปลา เป็ดสับเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมข้าวโพด รำข้าว หรือถั่วสับละเอียด วางปริ่มนํ้าเพื่อให้ตะพาบนํ้ามากิน
การเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น (เต่านินจา)
เป็นเต่าตัวเล็กขนาดโตเต็มที่ประมาณ 5-8 นิ้วเท่านั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trachemys seripta elegans กระดองและตัวมีสีเขียว มีลายสีน้ำตาลปนเขียวแก่และสีเหลืองสลับเป็นริ้วตามรอยต่อขอบกระดองเป็นลวดลายสวยงามมาก ตามธรรมชาติเต่าชนิดนี้อาศัยอยู่ทั่วไปแถบทวีปอเมริกา สหรัฐอเมริกา เมกซิโก และเอเซีย แต่ในประเทศไทยสั่งเข้ามาเลี้ยงครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่น จึงเรียกกันว่า เต่าญี่ปุ่น เมื่อภาพยนต์เรื่องเต่านินจาฮิต เด็กหลายคนจึงเรียกเต่าชนิดนี้ว่า “เต่านินจา”
เต่าญี่ปุ่นตัวผู้กระดองจะยาวรีกว่าตัวเมีย ลวดลายด้านท้องของกระดองจะมีมากกว่าและสวยงามกว่าตัวเมีย กระดองของเต่าตัวเมียจะค่อนข้างกว้างและใหญ่กว่า เต่าญี่ปุ่นพร้อมจะผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3-7 ปี ขนาดกระดองตั้งแต่ 5 1/2 นิ้วขึ้นไป เคยมีรายงานว่ามีผู้สามารถเลี้ยงเต่าชนิดนี้จนอายุได้ 25 ปี การเลือกซื้อเต่าชนิดนี้มาเลี้ยงต้องดูที่สีสรรและกระดองต้องแข็ง แข็งแรง ว่องไว ถ้าเต่าป่วยเป็นโรคจะเงื่องหงอย ตัวเบา มีรอยชํ้าแดง ภาชนะที่เลี้ยงเต่ามักเป็นตู้กระจกใสขนาด 20 แกลลอน จะเลี้ยงเต่าได้ 3-4 ตัว หรืออาจจะเลี้ยงในอ่างเลี้ยงปลา อ่างบัว หรือถังคอนกรีต รวมกับพันธุ์ไม้นํ้าอื่นๆ ได้ดี แต่อย่าใส่น้ำสูงเกินไปจะทำให้เต่าคลานหนีไปได้ และต้องสร้างเกาะที่พักกลางบ่อให้เต่าขึ้นผึ่งตัวได้จึงจะดี เต่าญี่ปุ่นกินอาหารได้ทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารเม็ดที่เลี้ยงปลา แมว สุนัขได้ทั้งนั้น บางครั้งใส่ผักบุ้งลงไปด้วยมันก็กินเช่นกัน ผู้เลี้ยงสามารถฝึกเต่าให้ออกมากินอาหารนอกอ่าง โดยจับมาใส่ในขันเล็กๆ มีนํ้าพอปริ่มๆ ใส่อาหารเม็ดลงไป เต่าจะกินอย่างสนุกสนานพออิ่มมันจะคลานขึ้นมาจากภาชนะที่ใส่ เราก็ทราบว่ามันอิ่มแล้ว จึงค่อยย้ายกลับไปยังที่อยู่เดิมของมัน วิธีนี้จะช่วยลดปัญหานํ้าเสียเพราะอาหารตกค้าง นอกจากนี้ในภาชนะที่เลี้ยงเต่าควรปล่อยปลาซักเกอร์ ปลางูลงไปเพื่อกินเศษอาหารที่เหลืออยู่ เด็กๆ มักจะเพลิดเพลินกับการเลี้ยงเต่าเพราะสามารถจับมันขึ้นมาคลานเล่น เป็นที่สนุกสนาน พอเบื่อก็ปล่อยลงไปยังที่เลี้ยงดังเดิม ที่สำคัญต้องเตือนเด็กๆ และผู้ที่จับเต่าเล่นให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เพราะเต่าสามารถเป็นตัวการแพร่เชื้อซัลโมเนลลา ผู้ป่วยบางรายถึงกับเสียชีวิตก็มี จนทางการสหรัฐเคยประกาศห้ามซื้อขายเต่าญี่ปุ่นชนิดนี้มาแล้ว
ปกติเต่าแข็งแรงมักจะไม่ติดโรค แต่ถ้าเห็นเต่ามีอาการตาแดง เนื้อมีรอยช้ำแดง เป็นอาการติดเชื้อควรใช้ยาแดงหรือ เบตาดีนที่รักษาแผลทาให้จนกว่าจะหาย ถ้าเต่ามีอาการตาแฉะนํ้าลายเป็นฟอง อาจเป็นเพราะติดเชื้อแบคทีเรีย ลองใช้ยาปฏิชีวนะดู หรือจะใช้ยาฆ่าเชื้อโรคผสมลงในอาหารให้เต่ากินตามสัดส่วนที่บอกไว้ที่ฉลากยาก็คงจะหายได้ง่ายกว่าปลาและสัตว์น้ำชนิดอื่น
อ้างอิง
สุภาพร สุกสีเหลือง
เลี้ยงสัตว์.com/การเลี้ยงเต่า/