data-ad-format="autorelaxed">
ลูกโคเป็นผลผลิตหลักของการเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อจะให้ได้กำไรจะต้องสามารถผลิตลูกโคให้ได้จำนวนมาก เช่น แม่โคควรสามารถให้ลูกได้ปีละตัว เมื่อหย่านมลูกโคมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด จึงจะขายได้ราคาดี การที่จะทำกำไรได้ดีดังกล่าวจะต้องเริ่มตั้งแต่เลือกพันธ์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับระบบหรือวิธีการจัดการเลี้ยงดู ให้อาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของโคระยะต่างๆ และมีการจัดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม การเลี้ยงโคเนื้อที่จะให้ผู้เลี้ยงได้กำไรตอบแทนมากจะต้องเริ่มตั้งแต่ การเลือกพันธุ์โคที่จะเลี้ยงให้ เหมาะสมกับระบบการเลี้ยงและวัตถุประสงค์ที่จะเลี้ยง เช่น ลูกโคที่ผลิตได้จะสนองความต้องการของตลาดประเภทใด สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มเลี้ยงโคปัญหาสำคัญคือจะเลี้ยงโคพันธุ์อะไร ดังนั้นจะต้องทราบว่าโคพันธุ์ต่างๆที่จะหาได้มีคุณสมบัติอย่างไร เหมาะสมกับวิธีการที่เราจะเลี้ยงหรือไม่ ควรซื้อโคที่มีลักษณะอย่างไร
เมื่อจัดหาแม่โคได้แล้ว จะต้องมีการจัดการด้านการผสมพันธุ์ที่ถูกต้อง ให้อาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของแม่โคระยะต่างๆ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นระยะจากแม่โคคลอดลูกถึง 3-4 เดือนหลังคลอด ระยะที่ 2 เป็นแม่โคท้อง 4-6 เดือน และ ระยะที่ 3 เป็นแม่โคท้อง 3 เดือนก่อนคลอด ลูกโคคลอดแล้วจะต้องจัดการอย่างไร ลูกโคเพศเมียที่หย่านมแล้วซึ่งส่วนใหญ่จะต้องเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์ทดแทนนั้นจะต้องเลี้ยงดูให้โตเร็วไม่แคระแกรนจึงจะใช้ผสมพันธุ์ได้เร็วที่สุดและเป็นแม่พันธุ์ที่ดี การจัดการเลี้ยงดูแม่โคสาวที่ใช้ผสมพันธุ์ครั้งแรกจะแตกต่างกับการเลี้ยงดูแม่โคที่เคยให้ลูกแล้ว เพราะแม่โคสาวยังไม่เติบโตเต็มที่จะต้องทำน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก และเป็นการตั้งท้องและเลี้ยงลูกตัวแรก ผู้เลี้ยงจึงต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่าแม่โคที่เคยให้ลูกแล้ว
การเลี้ยงโคพ่อพันธุ์และการจัดการผสมพันธุ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม่โคผสมติดเพื่อให้ลูกโคได้ดีการผสมเทียมเป็นวิธีการผสมโดยฟาร์มไม่ต้องเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้เอง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์ ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว การให้อาหารที่เหมาะสม จะต้องทราบความต้องการอาหารของโคในระยะต่างๆว่าต้องการโภชนะหรือ คุณค่าของอาหารในแต่ละวันเท่าใด และอาหารที่จะใช้เลี้ยงมีคุณค่าทางอาหารหรือโภชนะเท่าใดจึงจะสามารถคำนวณได้ว่าจะต้องให้อาหารจำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของโค ความต้องการอาหารส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับขนาดหรือน้ำหนักตัวของโค ผู้เลี้ยงโคที่ไม่มีตาชั่งประจำฟาร์มสามารถหาน้ำหนักโดยประมาณจากความยาวรอบอกโค เมื่อให้อาหารไประยะหนึ่งแล้วควรทำการตรวจสอบโดยดูความสมบูรณ์ของโคจาก คะแนนสภาพร่างกาย นอกจากการจัดการเลี้ยงดูและการให้อาหารที่ถูกต้องแล้ว การดูแลด้านสุขภาพโคก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องด้วยฟาร์มที่ดำเนินการเป็นธุรกิจอาจต้องทำการขุนโคและคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์โคให้เหมาะสมกับสภาพ การผลิตและการตลาด ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการฟาร์มให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในตอนท้ายของหนังสือนี้จึงได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการดังกล่าวให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาเลือกใช้หรือให้คำแนะนำแก่เกษตรกรต่อไป
พันธุ์โค
โคเนื้อมีหลายพันธุ์ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพันธุ์ที่มีอยู่ค่อนข้างแพร่หลายในประเทศไทยที่สามารถหา ซื้อใช้ทำพันธุ์และสามารถหาน้ำเชื้อใช้ในการผสมพันธุ์ได้เท่านั้น
โคพื้นเมือง
โคพื้นเมืองของไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับโคพื้นเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย ลักษณะรูปร่างกระทัดรัด ลำตัวเล็ก ขาเรียวเล็ก ยาว เพศผู้มีหนอกขนาดเล็ก มีเหนียงคอแต่ไม่หย่อนยานมาก หูเล็ก หนังใต้ท้องเรียบ มีสีไม่แน่นอน เช่น สีแดงอ่อน เหลืองอ่อน ดำ ขาวนวล น้ำตาลอ่อน และอาจมีสีประรวมอยู่ด้วย เพศผู้โตเต็มที่หนักประมาณ 300 – 350 กก.เพศเมีย 200 – 250 กก.
ภาพที่ 1 โคพื้นเมืองไทย
ข้อดี
1. เลี้ยงง่าย หากินเก่ง ไม่เลือกอาหาร เพราะผ่านการคัดเลือกแบบธรรมชาติในการเลี้ยงแบบไล่ต้อนโดยเกษตรกร และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเลี้ยงโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดได้เป็นอย่างดี
2. ให้ลูกดก ส่วนใหญ่ให้ปีละตัว เพราะเกษตรกรคัดแม่โคที่ไม่ให้ลูกออกอยู่เสมอ
3. ทนทานต่อโรคและแมลงและสภาพอากาศในบ้านเราได้ดี
4. ใช้แรงงานได้ดี
5. แม่โคพื้นเมืองเหมาะที่จะนำมาผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์หรือผสมเทียมกับพันธุ์อื่น เช่น บราห์มัน โค พันธุ์ตาก โคกำแพงแสน หรือโคกบินทร์บุรี
6. มีเนื้อแน่น เหมาะกับการประกอบอาหารแบบไทย
7. สามารถใช้งานได้
ภาพที่ 2 โคพื้นเมืองไทย ทนทาน เลี้ยงง่าย
ข้อเสีย
1. เป็นโคขนาดเล็ก เพราะถูกคัดเลือกมาในสภาพการเลี้ยงที่มีอาหารจำกัด
2. ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงขุน เพราะมีขนาดเล็กไม่สามารถทำน้ำหนักซากได้ตามที่ตลาดโคขุนต้องการ คือที่น้ำหนักมีชีวิต 450 กก. และเนื้อไม่มีไขมันแทรก
3. เนื่องจากแม่โคมีขนาดเล็กจึงไม่เหมาะที่จะผสมกับโคพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ชาร์โรเล่ส์ และซิมเมนทัล เพราะอาจมีปัญหาการคลอดยาก
โคพันธุ์บราห์มัน(Brahman)
มีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ถูกปรับปรุงพันธุ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โคพันธุ์นี้ที่เลี้ยงในบ้านเราส่วนใหญ่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย แล้วนำมาคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์โดยกรมปศุสัตว์และ ฟาร์มของเกษตรกรรายใหญ่ในประเทศ เป็นโคที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลำตัวกว้าง ยาว และลึก ได้สัดส่วน หลังตรง หนอกใหญ่ หูใหญ่ยาว จมูก ริมฝีปาก ขนตา กีบเท้าและหนังเป็นสีดำ เหนียงที่คอและหนังใต้ท้องหย่อนยาน โคนหางใหญ่ พู่หางสีดำ สีจะมี สีขาว เทา และ แดง ที่นิยมเลี้ยงกันมากคือสีขาวเพศผู้โตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 800 – 1,200 กก. เพศเมีย ประมาณ 500 – 700 กก.
ข้อดี
1. ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศร้อนของเมืองไทยได้ดี
2. ทนทานต่อโรคและแมลง โตเร็ว
3. เหมาะสำหรับเป็นโคพื้นฐานเพื่อผลิตโคเนื้อคุณภาพดีและโคนม เช่น ผสมกับพันธุ์ชาร์โรเล่ส์เพื่อผลิตโคขุน ผสมกับพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน(ขาวดำ)เพื่อผลิตโคนม และผสมกับพันธุ์ซิมเมนทัลเพื่อผลิตโคกึ่งเนื้อกึ่งนม
4. สามารถใช้งานได้
ข้อเสีย
1. เป็นโคพันธุ์ที่มีอัตราการผสมติดค่อนข้างต่ำ ให้ลูกตัวแรกช้า และให้ลูกค่อนข้างห่าง
2. ส่วนใหญ่เลือกกินเฉพาะหญ้าที่มีคุณภาพดี เมื่อหญ้าขาดแคลนจะทรุดง่าย ซึ่งจะเห็นได้จากเมื่อปล่อยเข้าแปลงหญ้าจะเดินตระเวนไปทั่วแปลงหญ้าก่อนแล้วจึงค่อยเลือกกินหญ้า
โคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์(Charolais)
มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส มีสีขาวครีมตลอดทั้งตัว รูปร่างมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขาสั้น ลำตัวกว้าง ยาว และลึก มีกล้ามเนื้อตลอดทั้งตัว นิสัยเชื่อง เป็นโคที่มีขนาดใหญ่มาก เพศผู้เมื่อโตเต็มที่หนัก ประมาณ 1,100 กก. เพศเมีย 700 – 800 กก.
ภาพที่ 3 โคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์
ข้อดี
1. มีการเติบโตเร็ว ซากมีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก(marbling)เป็นที่ต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพดี
2. เหมาะที่จะนำมาผสมกับแม่โคบราห์มันหรือลูกผสมบราห์มันเพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุน
ข้อเสีย
1. ถ้าเลี้ยงเป็นพันธุ์แท้หรือมีสายเลือดสูงๆจะไม่ทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา
2. ไม่เหมาะที่จะใช้ผสมกับแม่โคขนาดเล็กเพราะอาจทำให้คลอดยาก
ที่มา : กลุ่มวิจัยและพัฒนาโคเนื้อ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์