data-ad-format="autorelaxed">
เมื่อไม่ย่อท้อสมดังสุภาษิตโบราณชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” จึงมีตัวอย่างประจักษ์จริงแก่สายตาของผู้คนที่ผ่านมา ณ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพราะไม่เพียงแต่เกษตรกรรายใดรายหนึ่ง แต่ที่นี่ นายทวี มีแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 เล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า แม้ชาวบ้านจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้ง แต่ชาวชุมชนและเกษตรกรทุกคนกลับไม่ย่อท้อพร้อมใจกันหันมาปลูก “ปอเทือง” เมื่อทางราชการเข้ามาให้คำแนะนำในการปลูก
“ปอเทือง” เป็นพืชใช้น้ำน้อย ส่วนต้นของปอเทืองเมื่อเก็บเมล็ดออกแล้ว ไถกลบจะกลายเป็นพืชบำรุงดินที่ให้สารไนโตรเจนสูงมาก เป็นการเพิ่มแร่ธาตุในดินช่วงงดทำนาในหน้าแล้งอีกด้วย
วิธีการปลูก/การดูแลรักษา/การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเตรียมดินและการปลูกปอเทือง มี 2 วิธี คือ ปลูกซึ่งทำโดยก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองหว่าน 1-2 วัน จึงใช้รถเก็บเกี่ยวข้าว วิธีนี้จะสูญเสียเมล็ดพันธุ์มากจากการกลบของฟางข้าวหรือหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ใช้เมล็ดปอเทืองหว่านตามร่องรถเกี่ยวข้าวแล้วกระจายฟางข้าวทั่วแปลง หรือจะเก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงสัตว์ได้ วิธีนี้จะได้ใช้พื้นที่มากขึ้น อีกวิธีหนึ่ง คือ การปลูกโดยการเตรียมดิน ทำได้โดยใช้รถไถขณะดินมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดปอเทือง จะคราดกลบหรือไม่ก็ได้ ถ้าคราดกลบจะงอกได้สม่ำเสมอและเจริญเติบโตดี ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต มี 2 วิธี คือ ใช้รถเกี่ยวข้าวเก็บเกี่ยว แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากไม่คุ้มกับการลงทุนเพราะลำต้นของมันมีความแข็งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักรได้ และอีกวิธีคือ การใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3-4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบให้ฝักแตกหรือนำมากองบนผ้าใบบนตาข่าย
การลงทุน
ปลูกปอเทืองลงทุนไร่ละ 1,000 บาท ใช้เวลาปลูก 3 เดือน เมล็ดปอเทืองขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท ปอเทือง 1 ไร่ สร้างรายได้ 4,000 บาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 3,000 บาท
การตลาด
กรมพัฒนาที่ดินและพ่อค้าเอกชนจะเข้ามาสั่งจองในพื้นที่ล่วงหน้า ที่สำคัญเมื่อปอเทืองออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่งทั่วท้องทุ่ง จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลและเวียนไปเที่ยวชมความงาม ทำให้ชุมชนมีรายได้อื่นๆ ตามมา
ข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์