ชื่อสมุนไพร
มะค่าโมง
ชื่ออื่นๆ
มะค่าใหญ่ มะค่าโมง (ภาคกลาง) มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ) เขง เบง (สุรินทร์) บิง (จันทบุรี) ปิ้น มะค่าโมง (นครราชสีมา) ฟันฤาษี แต้โหล่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib
ชื่อพ้อง
Afzelia cochinchinensis (Pierre), Pahudia xylocarpa Kurz, P. cochinchinensis Pierre.
ชื่อวงศ์
Leguminosae-Caesalpiniaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ สูงได้ถึง 30 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทาอ่อน หรือสีชมพูอมน้ำตาล ผิวต้นขรุขระ กิ่งอ่อนมีขนประปราย ต้นแก่มักมีปุ่มปม เนื้อไม้มีลวดลายสวยงามสีน้ำตาลอมเหลือง ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคู่ ออกเรียงสลับ ใบกว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 18-30 ซม. ก้านใบยาวประมาณ 2 ซม. ก้านใบย่อยยาว 0.3-0.5 ซม. ใบย่อยมี 3-5 คู่ รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมมีติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบเกลี้ยง ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาว 5-15 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่มสีเทา ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.6-0.9 ซม. ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ ติดเหนือจุดกึ่งกลางก้านดอกเล็กน้อย ติดทน ก้านดอกยาว 0.7-1 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 1 เซนติเมตร ทุกส่วนมีขนคลุมบางๆ ดอกคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพู 1 กลีบ รูปร่างคล้ายช้อน แผ่เกือบกลม ยาว 7-9 มิลลิเมตร ส่วนฐานคอดเป็นก้าน มีก้านยาว 0.5-1.2 ซม. ปลายกลีบย่นเว้าตื้นๆ เกสรเพศผู้มี 10 อัน แยกกัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 7 อัน ก้านเกสรยาวประมาณ 3 ซม. มีขนสั้นนุ่มที่โคน อับเรณูยาว 0.3-0.4 ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 3 อัน รูปเส้นด้ายสั้นๆ เกสรเพศเมียมีขนที่รังไข่ รังไข่รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 0.7 ซม. ก้านรังไข่ยาวประมาณ 0.7 ซม. ก้านเกสรเพศเมีย ยาว 2-2.5 ซม. เกลี้ยง ขยายเล็กน้อยด้านปลาย ยอดเกสรขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงสีเขียวมี 4 กลีบ สีเขียวสด รูปขอบขนาน แต่ละกลีบเรียงซ้อนทับกันแบบตรงข้าม ยาว 1-1.2 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ขอบกลีบบาง ฐานรองดอกยาว 0.8-1 ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทา ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง 7-9 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร หนา 0.6-1 เซนติเมตร ผิวเปลือกเรียบไม่มีหนาม เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้ ปลายเป็นจงอยสั้นๆ ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ พอแห้งแตกออกเป็น 2 ซีก มีเมล็ดแข็ง มี 2-4 เมล็ด รูปรี ยาว 2.5-3 ซม. สีดำ ผิวมัน มีเนื้อหุ้มที่โคนเมล็ดสีเหลืองสด หุ้มเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 ซม. พบตามป่าดิบแล้ง แนวเชื่อมต่อระหว่างป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง ตามริมลำธารในป่าเบญจพรรณชื้น ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จัดเป็นไม้เด่น 1 ใน 5 ที่พบในป่าเบญจพรรณ
สรรพคุณ
ตำรายาไทย ลำต้นบริเวณที่เป็นปุ่ม รสเบื่อเมา เป็นยาถ่ายพยาธิ และรักษาโรคผิวหนัง หรือต้มเอาไอรมหัวริดสีดวงทวารทำให้แห้ง เปลือกต้น ผสมกับเปลือกต้นมะค่าแต้อย่างละครึ่งกำมือ ใช้เป็นยาประคบ แก้ฟกช้ำ ปวดบวม หรือผสมกับรากเจตพังคีอย่าละครึ่งกำมือ เป็นยาสมานแผล เปลือกต้นและราก ใช้รักษาโรคผิวหนัง เมล็ดอ่อน รับประทานสด หรือต้มให้สุก เมล็ดแก่ นำมาคั่ว และกะเทาะเปลือกออกแช่น้ำให้นิ่ม รับประทานได้ มีรสมัน เปลือกให้น้ำฝาด ใช้ฟอกหนัง ลำต้น ใช้รักษาโรคผิวหนัง พยาธิ
ข้อมูลจาก
phargarden.com รูปภาพจาก
bansuanporpeang.com