คนรุ่นใหม่ น้อยคนนักจะรู้จักต้น “ตะคร้อ” แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบทจะรู้จักดี เพราะ ผลแกะเปลือกจะมีเนื้อในฉ่ำน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวจัดนำไปปรุงเป็นส้มตำ รับประทานอร่อยมาก หรือเอาเนื้อฉ่ำน้ำติดเมล็ดแช่ซีอิ๊วหมักไว้ 1-2 อาทิตย์กินกับข้าวต้มร้อนๆ สุดยอดมาก ประโยชน์ทางยา แก่นของต้นต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง เปลือกผลเป็นยาสมานแผลในลำไส้ เปลือกต้นบดละเอียดเป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด ขูดเปลือกต้นตำใส่มดแดงมะม่วงกินแก้ท้องร่วง ใบขยี้พอกศีรษะหรือหลังเท้าแก้ปวดหัวได้ เนื้อไม้แข็งใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ทำครกกระเดื่องทนทานมาก
ตะคร้อ หรือ SCHLEICHERA OLEOSA MERR. อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 4 ใบ เนื้อใบหยาบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เวลาแตกใบอ่อนทั้งต้นจะสวยงามน่าชมยิ่งนัก ใบแก่เป็นสีเขียวสด
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกเป็นสีเหลือง “ผล” รูปทรงกลม ติดผลเป็นพวงจำนวนมาก เปลือกผลเรียบและหนา สีเขียวคล้ำ หรือสีเขียวปนน้ำตาล ผลโตเต็มที่ประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ เนื้อในหุ้มเมล็ดเป็นสีเหลืองอมส้มหรือสีแดง ฉ่ำน้ำ รสเปรี้ยวจัด เมล็ดสีน้ำตาลเป็นรูปโค้งงอ ตอนเป็นเด็กบ้านนอกนิยมนำเอาเมล็ดดังกล่าวเสียบบริเวณติ่งหูทำเป็นต่างหูดูสวยงามและสนุกตามสไตล์ของเด็กชนบทในยุคนั้น ซึ่ง “ตะคร้อ” จะมีดอกและติดผลแก่จัดในช่วงฤดูฝนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเกือบทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกอีกคือ เคาะจ้ก, มะจ้ก, มะโจ้ก (ภาคเหนือ) หมากค้อ (ภาคอีสาน) ปั้นรัว (สุรินทร์) ปั้นโรง (บุรีรัมย์) และตะคร้อไข่ (ภาคกลาง) มีต้นขายทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ราคาสอบถามกันเองครับ.
ข้อมูลจาก
“นายเกษตร”
thairath.co.th/content/502968