นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างการผลิตปาล์ม ต้องมีการปรับรูปแบบการผลิตของเกษตรตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสหกรณ์ให้สามารถเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขายปาล์มรายใหญ่เพื่อให้แข่งกับภาคเอกชนได้ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในเขตนิคมสหกรณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และชุมพร โดยมีทั้งหมด 10 นิคม 12 สหกรณ์ พื้นที่เพาะปลูกปาล์มกว่า 3 แสนไร่
การปรับโครงสร้างการผลิตปาล์ม จะเน้นให้สมาชิกสหกรณ์รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งถ้าหากแต่เดิมสมาชิกรวมกันเป็นกลุ่มอยู่แล้วก็ให้รวมเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ในกลุ่มกลุ่มหนึ่ง ก็อาจจะให้มีสมาชิก 100-150 คน มีพื้นที่ประมาณ 2 พัน-5 พันไร่ ในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อนำพื้นที่การปลูกปาล์มมาทำรวมกันในแปลงใหญ่ เช่น การใช้ปาล์มพันธุ์ดีหรือปรับปรุงพันธุ์ชนิดเดียวกัน การใช้จักรกลพร้อมกันเพื่อลดต้นทุน ใช้ปุ๋ยชนิดเดียวกันในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการรวมกลุ่มนี้จะสามารถลดต้นทุนได้ เนื่องจากการบริหารจัดการแปลงใหญ่ ลงทุนถูกกว่าการทำแปลงเดียว
ทั้งนี้ คาดว่าในปี พ.ศ.2558-พ.ศ.2560 จะมีกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ประมาณ 150 กลุ่มใหญ่ แต่ในการดำเนินการปี พ.ศ.2558 นี้ จะดำเนินการประมาณ 60 กลุ่มเพื่อเป็นการนำร่อง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มการจัดกลุ่มได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป หลังจากดำเนินการจัดตั้งกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะพูดคุยในเรื่องของการผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะผลิตอย่างไรให้ได้มาตรฐาน RSPO อีกทั้งทำอย่างไรการให้น้ำมันของผลปาล์มมากขึ้นถึง 20% จากเดิมที่ให้ปริมาณน้ำมันเพียง 17% พร้อมทั้งจะมีการจัดสร้าง ลานเท ซึ่งลานเทแต่ละแห่ง ควรจะอยู่ใกล้แหล่งผลิตปาล์ม อยู่ในระยะ 10-14 กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากไกลกว่านี้ จะทำให้คุณภาพของปาล์มลดลง นอกจากนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวคิดที่จะสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น โดยจะสร้างโรงงานหลังใหม่ประมาณ 4 โรงงาน และปรับปรุงโรงงานเก่า 2 โรงงาน รวมทั้งสิ้น 6 โรงงาน ทั้งนี้การจัดสร้างโรงงานนั้น ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายปาล์ม ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลจะให้จัดตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมาพูดคุยในเบื้องว่า จะมีการจัดตั้งโรงงานที่ไหน พื้นที่มีความเหมาะสมอย่างไรและจะทำให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่
นายโอภาสกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การรวมกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มเป็นกลุ่มใหญ่นั้น เป็นการลดต้นทุนการผลิต และเมื่อโครงการนี้ดำเนินการไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว คาดว่า ผลผลิตที่ได้นั้นจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 500 กิโลกรัม รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8 พันบาท ต่อไร่/ปี พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการระบบปาล์มน้ำมันอย่างชัดเจนขึ้น
ข้อมูลจาก naewna.com/local/162767