กระพังโหม เป็นต้นเดียวกันกับต้น ตูดหมูตูดหมา ต่อมาชื่อ ตูดหมูตูดหมา ฟังแล้วหยาบคายไม่น่าฟัง จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อในปทานุกรมใหม่ว่า “กระพังโหม” มีด้วยกัน 2 ชนิด แตกต่างกันที่ลักษณะของใบเท่านั้นคือ เรียวแหลมและยาว กับเรียวแหลมและสั้นกว่า ทั้ง 2 ชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PAEDERIA TOMENTOSA, BLUME, VAR GLALAR, KURZ- PAEDERIA FOETIDA อยู่ในวงศ์ RUSIACEAE เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม รูปเรียวยาว ปลายแหลม โคนสอบ ใบสดมีกลิ่นเหม็นเนื่องจากมีสาร METHGL–MEAREAPTAN เป็นสารระเหยได้ บางพื้นที่นิยมรับประทานเป็นผักสด เช่น ข้าวยำปักษ์ใต้ ลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ อินเดีย ปรุงในซุปให้คนชราที่ฟื้นไข้กินดีมาก ดอก เป็นช่อออกตามซอกใบ เป็นสีชมพูอมม่วง “ผล” รูปกลม ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
ประโยชน์ ใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็นตามที่กล่าวข้างต้น กินแก้ตานซาง แก้ดีรั่ว เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้ตัวร้อน เป็นยาขับไส้เดือนในเด็ก “กระพังโหม” ทั้ง 2ชนิด ทั้งต้นรวมรากแบบสดบดละเอียดทาหรือพอกบาดแผลที่ถูกงูกัดเป็นยาถอนพิษ ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปให้แพทย์ช่วยเหลือ ในบางพื้นที่ใช้ใบสดตำอุดรูฟันแก้รำมะนาด รากสดฝนกับน้ำหยอดตาแก้พิษ ตาฟาง ตาแฉะ ตามัวดีมาก สมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเกือบทุกจังหวัด
เป็นพืช ที่มีขึ้นตามธรรมชาติในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป มีชื่อ เรียก ในประเทศไทยอีกคือ กระพังโหม ตูดหมูตูดหมา (ภาคกลาง) ตดหมา หญ้าตดหมา ตืดหมา ขี้หมาคารั้ว (ภาคเหนือ, พายัพ, อีสาน) พาโหมต้น ย่าน (ภาคใต้) และ ย่านพาโหม (สุราษฎร์ธานี)
ปัจจุบัน “กระพังโหม” ไม่มีต้นขายที่ไหน ส่วนใหญ่จะหาปลูกตามบ้านกันเองเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารและเป็นยาตามที่กล่าวข้างต้นครับ.
ข้อมูลจาก
“นายเกษตร”
thairath.co.th/content/502537