ชื่อสมุนไพร
ว่านพระฉิม
ชื่ออื่นๆ
มันขมิ้น ว่านสามพันตึง (ภาคกลาง) มะมู หำเป้า (ภาคเหนือ) มันอีลุ้ม (จันทบุรี) มันอีโม้ (สุโขทัย) อีรุมปุมเป้า (ปราจีนบุรี) มันกะทาด (นครราชสีมา) มันหลวง (ประจวบคีรีขันธ์) มันเสิน มันตกเลือด (นครศรีธรรมราช)
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dioscorea bulbifera Linn.
ชื่อพ้อง
D. anthropophagum Chev., D. hoffa Cordemoy, D. sativa Thunb., D. sylvestris de Wild., Helmia bulbifera Kunth
ชื่อวงศ์
Dioscoreaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาล้มลุก เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ลำต้นกลมเกลี้ยง เถาเลื้อยแบบหมุนเวียนซ้าย มีหัวอยู่ใต้ดินขนาดใหญ่ และเกิดหัวขนาดเล็กชนิด bulbil ที่ซอกใบ รูปทรงกลม ขนาดประมาณ 0.6-2.5 เซนติเมตร อาจกว้างได้ถึง 13 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายผล มีปุ่มปมที่ผิว ผิวนอกสีน้ำตาลปนเทาซีด เมื่อฝานออกเนื้อภายในมีสีเหลืองส้ม หัวใต้ดินโป่งนูนเป็นลูกๆ โดยเชื่อมติดกันที่โคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้ามน กว้าง 5-20 เซนติเมตร ยาว 7-25 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ เส้นใบหลักออกมาจากจุดเดียวกันที่ฐานใบ ก้านใบยาว 2.5-12 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยมคล้ายปีก หลังใบสีเขียวเป็นมัน ท้องใบสีอ่อนกว่า เส้นใบข้าง 5-8 คู่ เส้นย่อยเรียงตัวตามขวางแบบขั้นบันได ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ออกที่ซอกใบ เป็นช่อยาว ดอกมีขนาดเล็ก ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อเชิงลด ห้อยลง ยาว 5-13 เซนติเมตร ออกเป็นกลุ่มบนแกน บางครั้งอาจพบช่อแยกแขนง เกสรเพศผู้ 6 อัน ดอกสีขาวออกเขียวอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ดอกตัวเมีย ออกเป็นช่อเชิงลด ยาว 10-20 เซนติเมตร ดอกคล้ายดอกตัวผู้ ผลแบบแคปซูล รูปขอบขนาน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร เมล็ดมีปีกที่ฐาน พบที่ระดับน้ำทะเล 1,000-2,000 เมตร ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
สรรพคุณ
ตำรายาไทย หัวใต้ดิน ทำให้สุกรับประทานได้ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ แก้ริดสีดวงทวาร บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย ขับพยาธิ เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง ท้องย้อย เป็นยาขม ยาเย็น ขับน้ำนม หรือหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใช้ปิดแผล แก้อักเสบ
ชาวเขาใช้ ราก ตำเป็นยาพอกแก้สิว ฝ้า ไฝ หัว ฝานตากแห้ง ปรุงเป็นอาหารแป้ง และกินเป็นยาแก้โรคกระเพาะ หัวสด นำมาทุบแล้วนำไปใส่แผลให้สุนัข ใบและยอดอ่อน กินเป็นผักสด หรือผักลวก หัวย่อยเผาไฟกินเนื้อในเป็นอาหาร
ข้อมูลจาก phargarden.com