นักวิชาการได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปริมาณยางที่ใช้ในประเทศยังมีการใช้น้อยเพียงร้อยละ 14 ของปริมาณยางทั้งหมด ที่เหลือส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ จึงทำให้ต่างชาติเป็นผู้กำหนดราคา
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558 เปิดเผยถึงการเสวนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตยางพารา พัฒนาสู่ความยั่งยืน” ว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการยางพาราไทยจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ เอกชน สถาบันเกษตรกร เข้าร่วมกว่า 500 คน ทำให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายที่เป็นประโยชน์ในการนำไปเป็นข้อมูลเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์หรือวางนโยบายพัฒนายางพาราของประเทศ ในปี 2558/2559 และในอนาคต
นักวิชาการได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปริมาณยางที่ใช้ในประเทศยังมีการใช้น้อยเพียงร้อยละ 14 ของปริมาณยางทั้งหมด ที่เหลือส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ จึงทำให้ต่างชาติเป็นผู้กำหนดราคา ดังนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้นด้วย ในการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราของรัฐบาล นายเชาว์ กล่าว
สำหรับภาคเอกชน เห็นว่า ราคายางขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดกับปริมาณการผลิตที่จะต้องสมดุลกัน แต่ปัจจุบันปริมาณยางมีมากกว่าความต้องการใช้ ทำให้ราคายางตกต่ำ
ส่วนเกษตรกร มองว่าในอนาคต จะต้องปลูกพืชผสมผสาน หลากหลายชนิดภายในสวนยาง โดยมียางพาราเป็นพืชหลัก
ทั้งนี้ สกย.จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดส่งให้รัฐบาล เพื่อจัดทำแผนพัฒนายางพาราของไทยทั้งระบบและได้วางแผนลดพื้นที่ปลูกยางพาราตั้งแต่ปี 2558-64 โดยส่งเสริมการทำสวนแบบโค่นยางเก่าที่ให้ผลผลิตต่ำปีละ 400,000 ไร่ รวม 7 ปี ประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพทดแทน ซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตยางในตลาดลดลงไม่น้อยกว่าปีละ 100,000 ตัน รวมประมาณ 700,000 ตัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น.
จาก dailynews.co.th