นักวิจัย ม.เกษตรฯได้รับทุน สกว.ศึกษาหาปัจจัยส่งเสริมอุตสาหกรรมปลานิล ระบุไทยเป็นแหล่งผลิตอันดับ 5 ของโลก แต่ปริมาณส่งออกต่ำเหตุปลามีกลิ่นโคลนที่ไม่พึงประสงค์ของตลาดยุโรป แนะแก้ปัญหาโดยเลี้ยงในกระชังแทนบ่อดิน พร้อมปรับสภาพแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้ยาและสารเคมี
ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การศึกษาและการประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิล (oreochromis niloticus) ของประเทศไทย”
จัดโดยฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า ปลานิลเป็นปลาที่มีความสำคัญที่สุดในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยเราผลิตปลานิลได้เป็นอันดับ 5 ของโลก คือปีละมาณ 240,000 ตัน ผลผลิตกว่า 90% ใช้บริโภคภายในประเทศ และ 10% ส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ สาเหตุที่ปลานิลไทยไม่ได้รับความนิยมหรือยังมีร้อยละของการส่งออกต่ำเป็นเพราะปลามีกลิ่นโคลน ซึ่งเป็นกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ (Off Flavor) ของชาวยุโรป
ทั้งนี้ สกว.ให้ทุนสนับสนุนดำเนินโครงการศึกษาการประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงปลานิลในบางพื้นที่สำคัญของประเทศไทย พบว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลของไทยตอนนี้ คือ โรคระบาดที่เกิดจากเชื่อแบคทีเรีย โดยจะพบในปลาที่มีขนาด 300 - 800 กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เกษตรกรกำลังจะจำหน่ายได้พอดี
นอกจากเชื้อแบคทีเรียประเภทต่างๆ แล้ว สิ่งที่เกษตรกรต้องให้ความสนใจและพึงระวังในการเลี้ยงปลานิลคือ คุณภาพน้ำ เพราะถ้าคุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ปลาตาย 100% โดยอุณหภูมิน้ำที่มีความเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลานิล คือ 28-30 องศาเซลเซียสนอกจากนี้การให้ยาปฏิชีวนะก็เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้บริโภค กล่าวคือ ถ้าจะส่งปลาไปจัดจำหน่ายควรหยุดการให้ยาใดๆทั้งสิ้นเป็นเวลา 14-21 วัน จากการศึกษาพบว่า คุณภาพของเนื้อปลาที่เลี้ยงในระบบกระชังจะดีกว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน
ด้าน ผศ.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักวิจัยของโครงการ กล่าวเสริมว่า จากการ “ศึกษาและการประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการตลาด ต้นทุนผลตอบแทนและการจัดการของการเลี้ยงปลานิลของประเทศไทย” พบว่า ปลานิลเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ราคามีความอ่อนไหวและผันผวนสูง การเลี้ยงปลานิลในแบบกระชังจะให้รายได้สุทธิน้อยกว่าการเลี้ยงแบบบ่อดิน เวลาคำนวณต้นทุนการผลิตจริงๆ ต้องอาศัยทักษะในการผลิต บวกกับความรู้ในเรื่องการจัดการ
หลายครั้งเกษตรกรจะพบว่าขายปลาได้จำนวนเงินมาก แต่ได้กำไรน้อยกว่าที่คิดไว้ เพราะหมดเปลืองไปกับต้นทุนด้านยาปฏิชีวนะ เพราะผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มีความคิดว่าต้องให้ยาหลายๆ ชนิดเพื่อการป้องกันโรคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุนโดยไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องสังเกตคุณภาพของปลาที่เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอว่า แนวโน้มจะเป็นโรคอะไร แล้วรักษาไปตามอาหารของโรคนั้นมากกว่าการให้ยาหลายๆ ตัวไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ดร.ประพันธ์ศักดิ์ กล่าวสรุปว่า สิ่งที่เกษตรกรต้องคำนึงถึงในการเพาะเลี้ยงปลานิลคือ ปัจจัยสำคัญด้านรูปแบบการเลี้ยง ทำเลที่ตั้งของฟาร์ม คุณภาพของลูกพันธุ์ปลา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำระหว่างการเลี้ยง การใช้ยาและสารเคมี อาหารและการจัดการตามหลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หากสามารถดูแลควบคุมปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ให้ดีได้ จะทำให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลานิลและได้กำไรตามที่คาดการณ์ไว้
จาก bangkokbiznews.com