ข่า.. เป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยอย่างดี คนจำนวนมากจึงมองข้ามหรือรู้สึกว่าข่าเป็นพืชธรรมดาๆ ไม่มีอะไรพิเศษ แต่ถ้าลองทบทวนหวนคิดถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเรา ก็จะพบความแปลกใจที่คนรุ่นก่อนช่างสรรหาพืชชนิดนี้มาเป็นสมุนไพรประจำครัวไทย เพราะเหตุผลง่ายๆ แต่มีความสำคัญต่ออาหารไทยที่โดดเด่นระดับโลก นั่นคือ ข่าเป็นพืชที่จัดเป็นเครื่องเทศที่มีความสามารถในการดับกลิ่นคาวได้ดีเยี่ยม และยังเพิ่มรสชาติให้อร่อยอีกด้วย เช่น ถ้าจะทำลาบเนื้อให้อร่อยจะตำข่าผสมใส่ลงไปเล็กน้อย หรือแกงข่าไก่รสแซ่บ อีกทั้งยังเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายโรคอีกด้วย
ข่า มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ ว่า Alpinia galanga Swartz และมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหลายชื่อคือ ข่าหยวก ข่าหลวง (ภาคเหนือ) , กฏุกกโรหินี (ภาคกลาง)
ถิ่นกำเนิด : อินเดีย พม่า ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บอร์เนียว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์
ลักษณะทางพฤษศาสตร์ ข่าเป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเป็นกอ มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีสีน้ำตาลอมแสดมีเส้นแบ่งข้อช่วงสั้นๆ เนื้อในเหง้ามีสีขาวรสขมเผ็ดร้อน แต่ไม่เผ็ดเหมือนกับขิง มักมีกลิ่นหอมฉุน ข่าเป็นพืชใบเดี่ยว ใบยาวปลายใบมนขอบใบเรียบ ก้านใบยาวเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ดอกเป็นช่อสีขาวนวล ผลกลมสีแดงส้มมีรสเผ็ดร้อน
ส่วนที่ใช้บริโภค : เหง้า, ดอก, หน่ออ่อน
การขยายพันธุ์ ข่าเป็นพืชที่ขยายพันธ์ด้วยการแตกหน่อ มีวิธีปลูกง่ายๆคือใช้แง่งข่าแก่จิ้มส่วนหัวลงไปในดิน รดน้ำพอประมาณ เพราะข่าไม่ชอบน้ำที่ชุ่มมากเกินไป
สรรพคุณและวิธีใช้
1. ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด นำเหง้าแก่มาฝน กับน้ำต้มสุก รับประทานครั้งละ ๑ ถ้วยตะไล หรือ ๒ ช้อนแกง แล้วดื่ม น้ำเข้าไปเล็กน้อย แก้อาการดังกล่าวได้ดีมาก
2. แก้กลากเกลื้อน
- ใช้เหง้าสดกับเหล้าโรง หรือน้ำส้มสายชู หรือเหง้าสดตำแช่แอลกอฮอล์ทา
-เอาข่าปอกเปลือกนิดหน่อย จุ่มเหล้าแล้วเอามาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน ทาแรงๆ ทำเช่นนี้ 4-5 วัน ก็จะหาย
-เอาหัวข่าแก่ๆ ล้างให้สะอาดฝานเป็นแว่นบางๆ หรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้สัก 1 คืน ทำความสะอาดขัดถูบริเวณที่เป็นเกลื้อนจนพอแดง และแสบ ; แล้วเอาข่าที่แช่ไว้มาทาเฉพาะที่ๆ เป็นเกลื้อน ; จะรู้สึกแสบๆ เย็นๆ ; ทาเช้าและเย็นหลังอาบน้ำทุกวัน ประมาณ 2 สัปดาห์ เกลื้อนจะจางลงและหายไปในที่สุด
-เอาหัวข่าล้างให้สะอาด ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปแช่เหล้า 35 ดีกรี ประมาณ 5 นาที แล้วทาที่มีผื่นคัน ; อาการจะหายไป และถ้าแช่ค้างคืนจะใช้รักษาเกลื้อนได้ดี
-ใช้ข่าสดตัดท่อนละ 1 นิ้ว ทุบให้แตกพอช้ำอย่าถึงกับละเอียด ใส่ถ้วยแช่เหล้าโรงประมาณ 1/4 ถ้วยชา ใช้สำลีชุบทาวันละครั้ง
-ใช้หัวข่าแก่ๆ นำมาตำพอแหลก แล้วผสมเหล้าหรืออัลกอฮอล์ แช่ไว้ 1 คืน ใช้ทาแก้เกลื้อน หรือกลาก
3. แก้บวมช้ำได้ดี เอาหัวข่าแก่ฝนน้ำ ทาบริเวณบวม ช้ำ เช้าำ-เย็น อาการบวมช้ำ อักเสบ จะค่อยๆหายไป
4. แก้ปวดท้อง นำหัวข่าแก่ฝนกับน้ำ ๑ ถ้วยตะไล เติมเหล้าขาว หรือเหล้าโรง อีก ๑ ถ้วยตะไล ดื่มแก้ปวดมวนในท้อง ในไส้
5. แก้ลมพิษ เอาเหง้าข่าแก่ๆ บดละเอียด ผสมเหล้าขาว หรือเหล้า โรง ทาบริเวณที่เป็นลมพิษบ่อยๆ อาการคันจากลมพิษ จะค่อยหายเป็น ปกติ
6. แก้ปวดฟัน บรรเทารำมะนาด นำเหง้าแก่สด ตำผสมเกลือ เล็กน้อย โขลกให้ละเอียด ใส่ีรูฟันที่ปวด หรืออมไว้ที่เหงือก
7. แก้ไอ ใช้ข่าทุบฝานบางๆ บีบมะนาว เติมน้ำตาลแล้วอมไว้ เคี้ยว กลืน
สรรพคุณของข่า
1. ฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้
ข่ามีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ โดยพบสารออกฤทธิ์ คือ cineole , camphor (และ eugenol
2. ฤทธิ์ขับน้ำดี
ข่ามี eugenol ซึ่งมีฤทธิ์ขับน้ำดี จึงช่วยย่อยอาหารได้
3. ฤทธิ์ขับลม
ข่ามีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ขับลม
4. ฤทธิ์ลดการอักเสบ
ข่ามีสารออกฤทธิ์ คือ -acetoxychavicol acetate , acetoxyeugenol acetate และ eugenol ช่วยลดการอักเสบ และตำรับที่มีข่าเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์ลดอักเสบได้
5. ฤทธิ์ยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร
ข่ามีสารออกฤทธิ์คือ acetoxychavicol acetate และ acetoxyeugenol acetate จึงช่วยยับยั้งแผลในกระเพาะอาหารได้
6. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
สารสกัดข่าด้วยไดเอทิลอีเธอร์ ปิโตรเลียมอีเธอร์ และน้ำกลั่นสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli ที่เป็นสาเหตุของอาการแน่นจุกเสียดท้องได้ โดยพบ eugenol (14) เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
7. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา
สารสกัดข่าด้วยน้ำกลั่น เมทานอล ไดคลอโรมีเทน เฮกเซน หรืออัลกอฮอล์ สามารถฆ่าเชื้อรา คือ Microsporum gypseum , Trichophyton rubrum และ Trichophyton mentagrophyte ที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้ โดยพบ acetoxychavicol acetate และacetoxyeugenol acetate เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา
8. การทดลองทางคลินิกใช้รักษากลากเกลื้อน
ได้มีการศึกษาการรักษากลากโดยใช้ข่าเปรียบเทียบกับ tolnaftate พบว่าได้ผล
9. หลักฐานความเป็นพิษและการทดสอบความเป็นพิษ
9.1 การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อฉีดสารสกัด 50% เอทานอลจากเหง้าข่าเข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 1 ก./กก. และ 188 มก./กก. เมื่อฉีดน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าข่าเข้าช่องท้องหนูตะเภา พบว่ามีค่า LD50 เท่ากับ 0.68 มล./กก. และเมื่อฉีดสารสกัดอัลกอฮอล์จากเหง้าข่าขนาด 100 มล./กก. เข้าช่องท้องหนูถีบจักรติดต่อกัน 7 วัน หรือให้สารสกัด 50% เอทานอลทางปากหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร พบว่าไม่เป็นพิษ จากการทดสอบพิษเฉียบพลันโดยป้อนสารสกัด 95% เอทานอลจากเหง้าข่าให้หนูถีบจักรในขนาด 0.5, 1 และ 3 ก./กก. พบว่าไม่มีสัตว์ทดลองตาย แต่เมื่อให้สารสกัดเดียวกันนี้กับน้ำดื่มในขนาด 100 มก./กก. ติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้หนูถีบจักรตาย 15%
9.2 พิษต่อเซลล์
สารสกัดเมทานอลจากเหง้าข่าที่ความเข้มข้น 20 มคก./มล. เป็นพิษต่อเซลล์ Raji สาร galanolactone และ (E)-8b-epoxylabd-12-ene-15,16-dial จากเหง้าข่าเป็นพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ 9KB ขณะที่สารสกัด 50% เอทานอลจากเหง้าข่าไม่เป็นพิษต่อเซลล์นี้
9.3 ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์
สารสกัดเหง้าข่าด้วยน้ำและน้ำร้อน ขนาด 0.5 มล./จานเพาะเชื้อ และเหง้าข่าสด ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และ M-45 (Rec-) ทิงเจอร์ ขนาด 80 มคล./จานเพาะเชื้อ ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA 98, 100
จาก thaiherb-tip108.blogspot.com