รองศาสตราจารย์ ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันในภาคใต้ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านยางพารา ได้มีบทบาทในการใช้งานวิจัยเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องยางพาราสู่การใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่นการพัฒนาพันธุ์ยางพารา โรคของยางพารา การจัดระบบสวนยาง การเพิ่มผลผลิตน้ำยาง การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำยางข้น เทคโนโลยีการอบแห้งหรือรมควัน การปรับปรุงคุณภาพยางแท่ง หรือ การพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เป็นต้น
มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา เพื่อการเรียนการสอนและผลิตบุคลากร ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ มีการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนและให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยางพาราอย่างต่อเนื่อง
ทุกวันนี้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับยางพาราที่ได้นำไปใช้ประโยชน์ร่วม 30 ผลงาน เช่น การประยุกต์ใช้งานน้ำยางครีมในการทำยางเคลือบสระน้ำ ผลิตภัณฑ์ฟองน้ำจากน้ำยางธรรมชาติ อุปกรณ์รองส้นเท้าจากยางธรรมชาติเพื่อลดความดันในส้นเท้า รูปแบบอุณหภูมิสำหรับการรมควันยางแผ่น การออกแบบห้องรมควันยางใหม่สำหรับเกษตรกร เป็นต้น
ในวิกฤติการณ์ยางพาราที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เสนอแผนพัฒนายางพาราของประเทศไทย ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2558 – 2562 ต่อรัฐบาล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ การรับโจทย์งานวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคเกษตรกรรม การจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยยางพาราของประเทศ จัดตั้งศูนย์ทดสอบยางพาราและผลิตภัณฑ์ ทำการวิจัยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม การสร้างต้นแบบสนามฟุตซอลและสนามเด็กเล่นเพื่อทดสอบการใช้งาน และการเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านยางพาราร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร และ CIRAD เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังได้เสนอโครงการแก้ปัญหายางพาราโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจและสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศคือ ยางปูสนามฟุตซอล ลานกีฬาเอนกประสงค์ และสนามเด็กเล่น ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อประเทศทั้งใน มิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และมิติทางการเมือง และ เสนอการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มมูลค่าและสร้างนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการแปรรูปยางพาราให้เป็นผลิตภัณฑ์โดยกลุ่มเกษตรกรหรืออุตสาหกรรมในประเทศ ในระยะสั้น 1-5 ปี และ สร้างนวัตกรรมจากยางพาราที่สามารถถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ได้ในระยะยาว 1-10 ปี ผ่าน “ศูนย์นวัตกรรมต้นแบบชีวผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง” และ “อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้” โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีในตลาด เทคโนโลยีการทำอุตสาหกรรมยางล้อ ชีวผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากส่วนที่ไม่ใช้ยางในน้ำยางสำหรับยาและเครื่องสำอางค์ และการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางพาราแก่ภาคอุตสาหกรรม
สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2558 ได้ชื่นชมบทบาทของมหาวิทยาลัยในการร่วมแก้ปัญหาวิกฤติพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ เนื่องจากเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือ มีผลงานที่น่าประทับใจ เอกชนพร้อมจะให้ความร่วมมือ โดยมีการเสนอแนะให้มีแนวคิดในการจัดการเชิงธุรกิจมากขึ้น เพิ่มระดับความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ หรือหน่วยงานที่จะช่วยสร้างความร่วมมือเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ TCELS เพื่อส่งเสริมการนำวัตถุดิบไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย แทนที่จะเน้นการขายวัตถุดิบเช่นยางแผ่นและน้ำยางเป็นหลัก
นอกจากนั้น ยังควรให้ความรู้แก่เกษตรกรเรื่องการบริหารจัดการสวนยาง พันธุ์ยาง ผลประโยชน์ระหว่างเจ้าของสวนยางและผู้รับจ้างกรีด การตลาด และการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยาง เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากยางยังคงมีอยู่ แต่ผลิตภัณฑ์และคุณภาพสินค้ากลับด้อยลงเพราะขาดแคลนบุคลากรในการพัฒนา
จาก psu.ac.th