นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การจะทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปในปริมาณครั้งละมาก ๆ ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ และจะต้องเน้นไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตในสิ่งที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน
เพราะถ้าแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิม ๆ เช่น ยางล้อรถ ก็จะมีการใช้ยางพาราในปริมาณเท่าเดิม ไม่ทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปจากตลาดอย่างชัดเจนนัก แต่ถ้านำมาสร้างเป็นถนน ที่จะต้องใช้ปริมาณมากก็จะช่วยให้หายไปจากสต๊อกได้เร็ว และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างเสถียรภาพราคายางในระยะยาว
สถาบันวิจัยยาง ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนน มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งวิธีแรกที่ทดสอบคือการใช้น้ำยางข้นหรือยางแผ่นรมควันมาผสมกับยางมะตอย โดยวิธีนี้จะต้องมีเครื่องมือผสมที่เหมาะสมและปลอดภัย เนื่องจากเวลาผสมน้ำยางข้นกับยางมะตอยจะเกิดปัญหาเรื่องฟองและ แรงดัน สถาบันฯ จึงสร้างเครื่อง ต้นแบบที่ใช้ผสมยางมะตอยกับยางพาราแบบเคลื่อนที่ ขนาดความจุ 5 ตัน และได้ทดลองนำไปราดผิวถนนในพื้นที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร 35 แห่ง ประมาณ 160,000 ตารางเมตร และร่วมกับกรมทางหลวงราดถนนบางแห่ง ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงขณะนี้ถนนยังมีสภาพดีอยู่
จากการทดสอบค่าความลึกของร่องล้อในห้องปฏิบัติการของกรมทางหลวงพบว่าถนนที่ราดด้วยยางมะตอยผสมยางพารามีความทนทานมากกว่าถนนที่ราดด้วยยางมะตอยปกติ เนื่องจากยางพารามีความเหนียว ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้การคืนตัวกลับดีกว่ายางมะตอย นอกจากนี้ ยังทนต่ออุณหภูมิได้ดีกว่า จากปกติค่าความอ่อนตัวของยางมะตอยจะอยู่ที่ประมาณ 50-54 เมื่อใส่ยางพาราเข้าไปจะมีค่าอ่อนตัวอยู่ที่ 60 กว่า ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา ทั้งนี้ การใช้ยางพาราจะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงให้ถนน ยืดอายุการใช้งาน
แต่การใช้เครื่องผสมที่คิดค้นขึ้นนี้มีข้อจำกัดเพราะต้องเคลื่อนย้ายไปผสมทุกสถานที่ที่ดำเนินการราดถนน ไม่เหมาะไปใช้ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการใช้น้ำยางข้นที่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปก็มีค่า ใช้จ่ายเพิ่ม สถาบันฯ จึงทดสอบวิธีผสมยางพาราแห้งกับยางมะตอย ซึ่งสามารถนำยางแห้งที่มีอยู่ทั่วไปและมีหลายชนิด เช่น เศษยางที่ตัดมาจากยางแผ่นรมควัน (คัตติ้ง) เศษยาง ยางชั้น 5 ยางตกเกรด ยางที่มีความชื้นหรือยางมีเชื้อรา ก็สามารถนำมาใช้ได้โดยนำมาผสมกับยางมะตอยในเครื่องผสมแบบปิด สัดส่วน 1:1 เพื่อให้เป็นมาสเตอร์แบทซ์ หรือหัวเชื้อ จากนั้นนำไปต้มกับยางมะตอยและราดถนนตามปกติ ปัจจุบันวิธีการผสมยางพาราแบบแห้งนี้ถือว่าง่ายที่สุด อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดเรื่องน้ำยางไม่ต้องแปรรูป เอาเศษยางมาทำได้เลย และสามารถขยายในเชิงพาณิชย์ได้ ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่สนใจพร้อมจะลงทุนทำเครื่องมือผสมยางมาสเตอร์แบทซ์ หากมีนโยบายส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ถ้าสามารถดำเนินการนำยางพารา มาใช้ในการทำถนนได้ ไม่เพียงแต่จะช่วย ดูดซับยางพาราที่ล้นตลาดออกมาได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว โดยเฉพาะตอนนี้ราคายางตกต่ำ ยิ่งเป็นโอกาสดีที่ จะนำเอายางมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า เมื่อยางน้อยลง ราคา ก็จะเพิ่มขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งจะแก้ปัญหาเสถียรภาพราคายางได้โดยไม่เข้าไปทำให้ตลาดบิดเบือน.
อ้างอิง dailynews.co.th