data-ad-format="autorelaxed">
กระดังงาไทย
กลุ่มพืชหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ
ชื่อวิทยาศาสตร์ของกระดังงาไทย : Cananga odorata Hook.f. & Thomson var. odorata
ชื่อสามัญของกระดังงาไทย : Ylang-ylang Tree
วงศ์ของกระดังงานไทย : ANNONACEAE
ชื่ออื่นของกระดังงาไทย : กระดังงา, กระดังงาใบใหญ่ , กระดังงาใหญ่, สะบันงา, สะบันงาต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระดังงา : ไม้ต้น สูง 10-20 ม. มีรอยแผลใบขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ยาว ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนมีขนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ ช่อดอกสั้น ออกห้อยรวมกันบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่งๆ มี 3-6 ดอก ดอกใหญ่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีขน กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แต่ละกลีบรูปขอบขนานปลายแหลม มีขน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบชั้นในแคบกว่าชั้นนอกเล็กน้อย โคนกลีบด้านในสีม่วงอมน้ำตาล ดอกอ่อนกลีบสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล แต่ละผลรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวคล้ำจนเกือบดำ มี 2-12 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน
สรรพคุณของกระดังงาไทย :
ดอกแก่จัด - ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ
ใบ, เนื้อไม้ - ต้มรับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะพิการ
วิธีใช้กระดังงาไทย :
ใช้ดอกกระดังงากลั่น ได้น้ำมันหอมระเหย
การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด ลมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ
สารเคมี : ใน ylang -ylang oil มีสารสำคัญคือ linalool , benzyl benzoate p-totyl methylether, methylether, benzyl acetate
ข้อมูลจาก rspg.or.th