data-ad-format="autorelaxed">
FK News เจาะประเด็นเกษตร วันพุธที่ 29 สิงหาคม 2555
หนุนทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน แนะหนทางทำนาให้ " รวย " - หลากเรื่องราว
ภารกิจของ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มุ่งเน้นปัญหาเรื่องการจัดการหนี้สินของเกษตรกร การส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรเกษตรกรมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจนของเกษตรกร การสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันของเกษตรกร
นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการรักษาการในตำเเหน่งเลขาธิการ กฟก. กล่าวว่า กฟก.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมจึงจัดให้มี โครงการอบรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน ซึ่งเป็นแนวทางของหอการค้าไทยที่ได้ขับเคลื่อนแนวทางความช่วยเหลือตามนโยบาย “การปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยให้เเก่เกษตรกรทั่วประเทศ และ กฟก. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจึงนำหลักการ แนวทางดังกล่าวมาส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรอีกเเรงหนึ่งเพื่อให้การดำเนินงานทั่วถึงในทุกพื้นที่ การดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตามแนวทางของหอการค้าไทย ได้ผลการตอบรับที่ดีในกลุ่มเกษตรกรโดยมีเกษตรกรเข้ารับการอบรมจำนวนมาก รวมถึงนำแนวทาง หลักการการทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน ไปปฏิบัติจริง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ในส่วนขั้นตอนการทำนาของเกษตร กร คือแบ่งแปลงนาขนาด 1 ไร่ ออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรก คือ “คันนา” ขนาดความกว้าง 1.5 เมตร ไว้สำหรับปลูกพืชประกอบ เช่น พริก มะนาว มะรุม โดยพืชที่ปลูกบนคันนา จะสามารถสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร เหลือจากการขาย สามารถทำเป็นพืชสมุนไพร ใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่วนที่สอง คือขุดร่องน้ำสำหรับทำประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงกบ เลี้ยงหอย ซึ่งมูลสัตว์เหล่านี้จะกลายเป็นปุ๋ยแก่ข้าว ขณะที่ส่วนที่สาม คือพื้นที่สำหรับปลูกข้าว และส่วนที่สี่ คือพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่ จะปล่อยเป็ดไปหากินตามแปลงนาได้
ชาวนาจะปรับสภาพดิน โดยใช้จุลิน ทรีย์ที่คัดมาเป็นพิเศษในห้องทดลอง แล้วทำระบบนิเวศใหม่ให้เหมาะสมกับการเกิดแพลงก์ตอนในนาข้าว ถ้าทำได้ จะทำให้เกิดสาหร่ายสีเขียวที่มีประโยชน์ในนาข้าวเป็นจำนวนมาก พวกสัตว์น้ำทั้งหลาย กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ หามาปล่อยให้มันกินกันเอง และ เมื่อให้ปุ๋ยกับต้นข้าว สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือจะมีแมลงปอมาวางไข่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นกองทัพอากาศ ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี ส่วนตามคันนา ก็ปลูกพืชที่สร้างรายได้เสริม เช่น พริก มะนาว ข่า ตะไคร้ มะเขือ หอมแดง หรือมะรุม และเลี้ยงสัตว์ประกอบ เช่น เลี้ยงเป็ดไข่ กบ เพื่อเสริมรายได้
เมื่อเข้าช่วงเก็บเกี่ยว พบว่าได้ข้าวติดรวงเป็นจำนวนมาก มากกว่านั้น ยังขายได้ทั้งพืชอื่น ๆ ที่ปลูกตามคันนาไว้ ขายปลา ขายหอย ขายปู ขายกุ้ง ส่วนข้าวที่ปลูก ขายเป็นข้าวหอมนิล กินแล้วมีสรรพคุณเป็นยา ช่วยต้านทานโรคได้สารพัด
นายสมยศ กล่าวอีกว่า ส่วนหนึ่งที่ชาวนาที่นี่ทำได้ เพราะผู้เข้าร่วมโครงการส่วนมากเป็นเกษตรกรที่มีความรู้ เพราะส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน พวกเราใช้หลักนิเวศวิทยา ไม่ใช้สารเคมี แต่เราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำการเกษตรแทน
ส่วนประเมินรายได้เสริมของเกษตรกรตามขั้นตอนการทำนา 1 ไร่ได้ 1 แสน ยกตัวอย่างเช่น รายได้จากการเลี้ยงปลา ก็จะมีรายได้ประมาณ 5,000-6,000 บาท เช่น ปล่อยปลาหมื่นตัว นับอัตราการตาย 30% ก็เหลือราว 7 พันตัว ถ้าคิดตัวละ 10 บาท มีรายได้ 7 หมื่นบาท ถ้าเกษตรกรเลี้ยงเป็ดก็จะมีรายได้เพิ่ม เช่น เป็ด 50 ตัว ให้ไข่วันละ 38-43 ฟอง ขายฟองละ 3 บาท เป็นเงิน 144 บาทต่อวัน ส่วนผลประโยชน์บนคันนา เช่น พริก สะระเเหน่ กระเทียม หอม ผักชีลาว ถั่วพู กระชาย เป็นต้น สามารถนำไปกินในครอบครัวได้เป็นการหยุดรายจ่าย หรือสามารถนำไปขายกลายเป็นรายได้เสริมจากการทำนาอีกด้วย
...นอกจากสิ่งที่ได้กลับมาจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเเล้ว สิ่งที่กลุ่มเกษตรกรจะได้กลับคืนมา คือ วิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น ความปรองดองในชุมชน ตลอดจนความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรต่อไปในอนาคต.
จำแนกปัญหาพื้นที่ชาวนา เพิ่มผลิตภาพการผลิตข้าว - ดินดีสมเป็นนาสวน
ปัจจุบันปัญหาความยากจนของภาคเกษตรไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ไขได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ และการบริหารจัดการ ปัญหาเรื่องทุน และโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะที่ทำกิน การพัฒนาดินและน้ำ ซึ่งยังพบว่าไม่เพียงพอ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยเกิดความล่าช้า อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ยากจน มีหนี้สิน …
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการผลิต กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการ จำแนกปัญหาพื้นที่ของเกษตรกร ออกมาให้ชัดเจน เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตข้าวให้มากขึ้น โดยการจำแนกพื้นที่ผลิตข้าวตามผลผลิตเฉลี่ยออกเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่พัฒนาที่มีผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 350 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งพื้นที่นี้ต้องกำหนดกิจกรรมเข้าไปพัฒนาเพิ่มผลผลิตแยกตามรายพื้นที่ และพื้นที่ที่มีผลผลิตต่ำกว่า 350 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพื้นที่นี้ต้องกำหนดชัดเจนว่าจะคงสภาพให้มีการผลิตข้าวอยู่ต่อไป หรือว่าจะมีการชดเชยเพื่อให้เปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น โดยต้องไม่มีการนำผลผลิตในส่วนนี้ไปคำนวณค่าเฉลี่ยของประเทศอีก เพราะจะทำให้ค่าเฉลี่ยของประเทศไม่ถูกต้องในเชิงสถิติ เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นบวกต่อการทำตลาดส่งออกของประเทศ
นอกจากนี้ ยังต้องมีการ พัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ไทยให้มีคุณค่าและคุณลักษณะเฉพาะให้สูงขึ้น เพื่อคงอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ความเป็นที่สุดของสายพันธุ์ข้าวเพื่อการบริโภคของโลก เนื่องจากคู่แข่งคือพม่าและเวียดนามมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ให้มีเอกลักษณ์สูงกว่าข้าวหอมมะลิสายพันธุ์ไทย อีกทั้งยังต้องจัดทำระบบทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ชัดเจนและเป็นปัจจุบัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิข้าวภายนอกในกรณีที่ภาครัฐต้องการสนับสนุนเกษตรกร และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและยกระดับผลผลิตของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ด้วยสายพันธุ์ข้าวที่ผ่านการพัฒนาให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นแล้ว
นายนิวัติ กล่าวต่อไปว่า การที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการทำตลาดใหม่ โดยแยกกลยุทธ์ในการทำตลาดตามประเภทของข้าว เช่น ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์พื้นเมือง โดยใช้ประเทศปลายทางมากำหนดเป็นเป้าหมายตลาดส่งออก เนื่องจากกลุ่มสมาชิก AEC เป็นประเทศผู้ผลิตข้าวเหมือนกัน และที่สำคัญต้องไม่สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นผลลบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยผ่านการนำเสนอข้อมูลข้าวในเชิงเปรียบเทียบภาพรวมเช่นเดียวกันกับคู่แข่ง ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญที่ข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่งเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะข้าวนึ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตรายอื่นที่ผลิตข้าวนึ่งคุณภาพต่ำกว่าและขายในราคาที่ต่ำกว่า
...สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ผลผลิตต่ำกว่า 350 กิโลกรัมต่อไร่ และมีรายได้จากการผลิตข้าวต่ำ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ทางกระทรวงเกษตรฯต้องรีบเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้สูงและมีโรงสี หรือมีผู้ส่งออกเข้ามาค้ำชู กระทรวงเกษตรฯจะลดบทบาทตรงนี้ไป โดยปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีเจ้าหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำและช่วยเหลือเกษตรกรประจำอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อนำข้อมูลและข้อเท็จจริง รวมถึงปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่มาพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น …
...แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนพร้อมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นได้หรือไม่ต้องคอยดูกันต่อไป.
ข้อมูลจาก เดลินิวส์