data-ad-format="autorelaxed">
FK News เจาะประเด็นข่าวเกษตร วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555
ข่าวเกษตรกรรม FK News เปิดใจประธาน AFET เสริมเขี้ยวเล็บให้เกษตรกร สินค้าส่งออง, ธนาคารหมู่บ้านไบโอดีเซลและสหกรณ์พลังงาน ไม่ใช่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชมต่อในคลิบนะครับ
ระบบซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ตสล.) นับเป็นกลไกการซื้อขายที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและมีการก่อตั้งแพร่หลายไปทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยแล้ว ก็มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเช่นกันมาตั้งแต่ปี 2547 โดย "ทีมข่าวเศรษฐกิจเดลินิวส์" ฉบับนี้ได้มีโอกาสเจาะลึก 'ประสาท เกศวพิทักษ์" ประธานกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (เอเฟท) ผ่าน "รายการเศรษฐกิจติดจอ" ทางเดลินิวส์ทีวี ที่รับชมผ่านจานดาวเทียมพีเอสไอ ช่อง 26 ถึงบทบาทความสำคัญของเอเฟทในประเทศไทย และทิศทางก้าวเดินต่อไปในอนาคต
ช่องทางปลอดพ่อค้าคนกลาง
ประธานเอเฟท ได้เล่าถึงเป้าหมายการตั้งตลาดเอเฟทว่า มีหน้าที่เป็นตัวกลางดูแลซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และสร้างความเป็นธรรม โดยมีกลุ่มคนเกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ใช้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงนักลงทุน แต่กลุ่มเกษตรกร ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้รับประโยชน์ เพราะในการซื้อขายเอเฟท จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายผลผลิตได้เอง โดยไม่ถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้า
ขณะเดียวกันเอเฟท ถือเป็นเครื่องมือช่วยการวางแผนการเพาะปลูกแก่เกษตรกร เพราะมีการกำหนดราคาอ้างอิงล่วงหน้า 3-7 เดือน เมื่อมีราคาอ้างอิงโชว์ จะทำให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และใช้ต้นทุนการผลิตที่สอดคล้องกับราคาอ้างอิงในอนาคตได้ เช่น ใน 4 เดือนข้างหน้าหากข้าวราคาดี ก็สามารถเร่งผลผลิตมาขายเพื่อให้ได้ผลกำไร ในทางกลับกันหากอนาคตราคายังต่ำไม่น่าสนใจ อาจวางแผนชะลอการผลิต หรือลดต้นทุนอย่างอื่นเพื่อไม่ให้ขาดทุน
ส่วนฝั่งผู้ใช้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม หรือพ่อค้า สามารถใช้กลไกของ "เอเฟท" เพื่อสร้างเสถียรภาพ ควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างเหมาะสม เช่น โรงงานผลิตยางรถยนต์ หากเข้ามาทำสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า จะช่วยให้คำนวณต้นทุนการผลิต และกำหนดราคาขายที่มีกำไรชัดเจนได้ ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวนในอนาคต เช่น ถ้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในอีก 6 เดือนข้างหน้า กก. 84 บาท เมื่อถึงขณะนั้นแม้ราคายางจะสูงขึ้นเป็น กก.120 บาท โรงงานจะสามารถซื้อยางได้ในราคา 84 บาทอยู่ดี เพราะมีสัญญาซื้อขายไว้แล้ว โดยเอเฟท ทำหน้าที่เป็นตัวกลางดูแล ไม่ให้เกิดการบิดพลิ้วสัญญาเกิดขึ้น ขณะที่กลุ่มสุดท้ายที่ใช้ประโยชน์จากเอเฟท จะเป็นนักลงทุนที่เข้ามาซื้อมาขายเก็งกำไรเหมือนตลาดหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทนในระยะสั้น
เกษตรกรไม่นิยมเอเฟท
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ปัจจุบันการใช้ประโยชน์ในการนำสินค้าเกษตรเข้ามาซื้อขายในเอเฟทยังทำได้น้อย และมีไม่ถึง 1% ของผลผลิตทางเกษตรทั้งหมด อีกทั้งราคาอ้างอิง ไม่สามารถชี้นำราคาตลาดได้เท่าที่ควร เพราะการซื้อขายในตลาดล่วงหน้ายังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ทั้งระดับราชการ และเกษตรกร ประกอบกับ เอเฟท มีข้อจำกัดในการดำเนินงานทั้งบุคลากรที่มีไม่มาก และงบประมาณที่ได้รับมาเพียงปีละ 100 ล้านบาท ทำให้การประชาสัมพันธ์การสร้างความรับรู้ให้เกษตรกร และภาคผู้ซื้อมีไม่เพียงพอ
เปิดซื้อขายสับปะรด 1 ก.ย.
แต่เอเฟทได้พยายามเดินหน้าแผนการพัฒนาขยายการซื้อขายทั้งเชิงปริมาณ มูลค่า และการสร้างราคาอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันในเอเฟทมีการซื้อขายสินค้าเกษตรอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่งเอสทีอาร์ 20 ข้าวขาว 5% ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 และมันสำปะหลังเส้น และในเดือนก.ย.นี้ จะเปิดการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสับปะรดกระป๋องเป็นแห่งแรกของโลก เพื่อสนับสนุนในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดรายใหญ่สุดของโลกจึงควรมีราคาอ้างอิงที่ชี้นำตลาดได้
ขณะเดียวกันยังป้องกันไม่ให้ไทยถูกต่างประเทศกล่าวหาว่า มีการทุ่มตลาดราคาสับปะรดจนขัดต่อกฎองค์การการค้าโลก อีกทั้งช่วงปลายปีนี้ เอเฟทยังได้หารือกับ บริษัท ปตท. ถึงการนำเอทานอล ซึ่งผลิตมาจากอ้อย มันสำปะหลัง เข้ามาทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย
เร่งบูรณาการเพิ่มความรู้
นอกจากนี้ยังได้บูรณาการงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ช่วยเผยแพร่ราคาอ้างอิงของเอเฟทแก่เกษตรกรให้รับรู้รายวัน รวมทั้งจะร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ให้เข้ามาเป็นตัวกลางในการนำผลผลิตจากเกษตรกรเข้ามาซื้อขายในเอเฟทเพิ่มเติม
เพราะเชื่อว่าหากกลไกสินค้าเกษตรล่วงหน้า และราคาอ้างอิง ถูกขับเคลื่อนใช้ได้อย่างแพร่หลาย จะสร้างความสำเร็จต่อประเทศไทยมหาศาล และยังทำให้ราคาซื้อขายสินค้าในตลาดทั่วไปปรับขึ้นตามด้วย เหมือนก่อนหน้านี้ปี 54 ที่รัฐบาลมีการระบายข้าวสารสต๊อกผ่านเอเฟท 7-8 แสนตัน ปรากฏว่าได้ช่วยยกระดับราคาตลาดให้สูงขึ้น และภาพรวมเกษตรกรขายข้าวได้สูงขึ้นถึง 100 ล้านบาท
ที่สำคัญยังเป็นการสร้างการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่รัฐบาลจะใช้โครงการจำนำ หรือประกันรายได้อุ้มเกษตรกรอีกไม่ได้ ดังนั้นกลไกซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ช่วยสร้างเสถียรภาพทางราคาแก่เกษตรกรในระยะยาว แต่จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย พ่อค้า เกษตรกร และหน่วยงานทุกคน!!
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์