“อรุณพร คงภักดี” บัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเคมีอุตสาห
กรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี หลังจบการศึกษาเธอเริ่มต้นชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นครูสอนพิเศษให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ อ.เขาพนม จ.กระบี่ ซึ่งเป็นอาชีพอิสระนานเกือบ 2 ปี จากนั้นเธอได้ตัดสินใจเลือกที่จะเป็น “เกษตรกร” ดำเนินรอยตามบรรพบุรุษซึ่งได้ปูพื้นฐานด้านการเกษตรในที่ดิน ส.ป.ก.ที่ได้รับจัดสรร จำนวน 45 ไร่ผู้ที่ไม่เคยสนใจงานออฟฟิศเหมือนบัณฑิตหนุ่มสาวทั่วไป
ปัจจุบันอรุณพรได้สืบทอดการทำเกษตรจากพ่อ เธอกลายเป็นผู้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่กำลังให้ผลผลิตทั้ง 45 ไร่ ขณะเดียวกันเธอยังได้ลงทุนเลี้ยงโคเนื้อในสวนปาล์มน้ำมันควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับจับธุรกิจเขียงเนื้อในตลาดสดเทศบาลเขาพนมอีกอย่างหนึ่ง เพื่อสร้างรายได้เสริมแก่ครอบครัว ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า แม้วิชาชีพที่ร่ำเรียน มาจะไม่ตรงกับสายงานที่เลือก ก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด การได้คลุกคลีอยู่กับการทำเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับรู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีและพยายามค้นคว้าหาความรู้และเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทำให้เธอสามารถประคับประคองธุรกิจของครอบครัวให้ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยวัยเพียง 27 ปี
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้คัดเลือกแปลงเกษตรของอรุณพรขึ้นมาเป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ต.เขาพนม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งแปลงนี้มีความโดดเด่นอยู่ที่
“การเลี้ยงโคในสวนปาล์มน้ำมัน” ถือเป็นการทำเกษตรแบบเกื้อกูลกัน ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยใช้ทางใบปาล์มน้ำมันมาเลี้ยงโคเนื้อ และนำมูลโคไปใช้เป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดินในสวนปาล์ม ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังช่วยให้ได้ผลผลิต/ไร่เพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ตัน/ไร่ ส่งผลให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
อรุณพรบอกด้วยว่า ขณะนี้มีโคเนื้ออยู่กว่า 60 ตัว เป็นแม่พันธุ์โค จำนวน 10 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นลูกโค โครุ่นและโคขุน ซึ่งแม่พันธุ์กับโคขุนจะเลี้ยงแยกกันเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ โคขุนส่วนใหญ่จะซื้อจากชาวบ้านในละแวกนี้ อายุต้องไม่ต่ำกว่า 12 เดือน นำมาเข้าระบบการขุนใช้ระยะประมาณ 3-4 เดือน สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงโคขุนนั้น ใช้ทางใบปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น นำมาเข้าเครื่องบดสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปให้โคกิน หากมีเวลาจะแบ่งส่วนหนึ่งไปหมักแล้วค่อยนำมาเลี้ยงโค ซึ่งโคจะชอบกินมากกว่าปาล์มสด อีกทั้งยังให้อาหารข้นเสริมด้วย คือ กากปาล์มผสมกากถั่วเหลือง รำข้าว และกากน
้ำตาล นอกจากนี้ยังมีการนำสารจุลินทรีย์อีเอ็ม (EM) มาผสมน้ำให้โคกินด้วย มีคุณสมบัติช่วยย่อยและดูดซึมอาหารได้ดีขึ้น ทำให้โคมีอัตราการแลกเนื้อ (FCR) ดี และได้น้ำหนักเร็วขึ้น
เมื่อขุนได้น้ำหนักตามที่ต้องการแล้ว จะชำแหละโคจำหน่ายเองโดยเปิดเขียงเนื้อที่ตลาดสดเทศบาลเขาพนม ขณะนี้มีการเชือดโคประมาณ 4 ตัว/สัปดาห์ จำหน่ายกิโลกรัมละ 140 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรเหลือ 1,500-2,500 บาท/ตัว แม้โคบางตัวจะได้กำไรไม่มากนัก แต่ก็จำเป็นต้องเชือดเพราะต้องรักษาตลาดและลูกค้าเอาไว้ ถือว่าพออยู่ได้ เนื่องจากมีรายได้ 2 ทาง คือ การขุนโคชำแหละขายและยังมีรายได้จากผลผลิตปาล์มน้ำมันอีกปีละกว่า 240,000 บาทด้วย
น้อยคนนักที่จะมีแนวคิดอย่างเธอผู้นี้ ความเป็นมือใหม่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของอรุณพร ความเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้ารุ่นใหม่ต่างหากที่ผลักดันให้เธอก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าได้ เธอยังแนะเคล็ดลับส่งท้ายด้วยว่า การกล้าตัดสินใจ กล้าลงมือทำ และรักในสิ่งที่ทำ มีส่วนช่วยให้งานที่ทำประสบผลสำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม หากสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ทางใบปาล์มน้ำมันเลี้ยงโคเนื้อ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 248 หมู่ 7 ต.เขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่ โทรศัพท์ 08-7881-9168.....