data-ad-format="autorelaxed">
คำนำฟาร์มเกษตร
เมื่อช่วงประมาณปลายปี 2553 ฟาร์มเกษตรได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ และระดมความคิดและทำกิจกรรมที่จัดโดย สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ในหัวข้อเรื่อง "ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563" ซึ่งมีกระบวนการมองนาคต หรือ Foresight อย่างมีหลักการและเหตุผล ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยึ่ง จากวันนั้น ให้หลังประมาณ 6 เดือนต่อมา ภาพนาคตการเกษตรไทย 2563 ได้ถูกจัดทำขึ้นโดย สถาบันคลังสมองของชาติ ออกมาเป็นรูปเล่ม และสื่อมัลติมีเดี่ยที่ทันสมัย อย่างพิถีพิถัน ทางฟาร์มเกษตรเล็งเห็นว่า สื่อนี้ มีคุณค่าอย่างมาก สมควรอย่างยิ่ง ที่ฟาร์มเกษตรจะช่วยเป็นส่วนหนึ่ง ในการนำผลการวิจัยครั้งนี้ มาช่วยนำเสนอต่อบุคคลที่สนใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฟาร์มเกษตรจะได้ช่วยนำข้อมูลอันมีคุณค่านี้ นำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธาณะ และเข้าถึงผู้สนใจได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง ไม่มากก็น้อย
คำนำ
สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์คาดการเทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ธนาการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และหนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ ได้จัดทำภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563 นี้ขึ้น ด้วยขบวนการที่เรียกว่า "การมองอนาคต (Foresight)" เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้สังคม ที่ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะผู้ผลิตหรือเกษตรกรในภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้หันหน้ามองอนาคตในระยะยาวร่วมกันอย่างเชื่อมโยง ซึ่งภาพอนาคตที่เกิดขึ้นเป็นไปได้หลายรูปแบบ และเป็นไปได้ทั้งภาพที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์
ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563 ที่ประกอบด้วย ภาพไม้ป่า ภาพไม้เลี้ยง และภาพไม้ล้มที่เกิดขึ้น นอกจากจะสะท้อนถึงปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต การตลาด และสังคมของคนเกษตรแล้ว ยังสะท้อนถึงปัจจัยและบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวางแผนและนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย นักลงทุน นักธุรกิจการเกษตร หรือผู้บริโภคเอง ซึ่งสถาบันคลังสมองของชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า "ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563" จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้สังคมเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมโดยรวมอย่างเท่าทัน
สถาบันคลังสมองของชาติ พฤษภาคม 2554
อารัมภบท
แม้ว่าการเกษตรของไทยจะเป็นภาคการผลิตทางเศรษฐกิจ ที่ถือครองทรัพยากรที่ดินและแรงงานจำนวนมาก แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสำคัญของภาคการเกษตรไทยในการเป็นแหล่งเศรษฐกิจของประเทศ กลับกำลังถดถอยและลดความสำคัญลงเป็นลำดับ เมื่อเปรียบเที่ยบกับภาคเศรษฐกิจนอกการเกษตรจนเป็นที่กล่าวกันว่า ความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในยุคนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงทุนในอดีต และกำลังจะผุกร่อมร่อยหรอลงทุกวัน นอกจากนี้ กำลังแรงงานและผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรกำลังเข้าสู่ยุคเกษตรกรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น การผลิตในภาคการเกษตรกำลังขาดแรงจูงใจสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้าไปรับช่วงต่อในการประกอบอาชีพ รวมถึงการสร้างนักวิจัยด้านการเกษตร
เมื่อพิจารณาถึงผู้ประกอบอาชีพการเกษตรจะพบว่า มีทั้งผู้ที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่ล้มเหลว ด้านหนึ่งซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวนไม่น้อย สามารถปรับตัวเข้ากับกลไกตลาด และมีการพัฒนาไร่นาไปสู่การผลิตเชิงการค้าในรูปแบบของธุรกิจฟาร์ม จนสามารถสร้างฐานะที่ดีให้กับครอบครัวไปพร้อมๆกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในกระบวนการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการผลิตที่เอื้ออำนวย แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับมีเกษตรกรซึ่งมีจำนวนมาก ตกอยู่ในภาวะยากจน และประสบความล้มเหลวในการประกอบอาชีพ จนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน และตกอยู่ในภาวะของการเป็นหนี้สิน ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้ จะเป็นเกษตรกรขนาดเล็ก และมีการพึ่งพิงเทคโนโลยีในระดับต่ำ ก้าวไม่ทันกับความเป็นพลวัตของระบบตลาด และอยู่ในสภาพแวดล้อมการผลิตที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นสำคัญ
ในขณะที่อนาคตข้างหน้าเป็นที่ตระหนักกันดีว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการเข้าสู่สภาวะแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากการก้าวเข้าไปสู่นโยบายการค้าเสรี ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างโอกาสและก่อให้เกิดวิกฤติต่อภาคการเกษตรของไทย ประกอบกับประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนในภูมิอากาศและกระทบต่อความเสี่ยง ของการผลิตในภาคการเกษตรตลอดจนรายได้ของเกษตรกรแล้ว สถานการณ์ของปัญหาภาวะโลกร้อน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการผลิตสินค้าเกษตรหลายๆชนิด ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า ไปพร้อมๆกับการเพิ่มความเสี่ยงภัยในระบบการผลิต และการค้าสินค้าเกษตรตามมาอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อผนวกับนโยบายการเปิดเสรีการลงทุน ภายใต้กรอบกติกาของข้อตกลงอาเซียนของภาครัฐ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา ตลอดจนภาวะวิกฤติด้านพลังงานด้วยแล้ว นับว่าเป็นปัจจัยเร่งที่จะสร้างผลกระทบ ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพและความเข็มแข็งให้กับภาคการเกษตรของไทย และเกษตรกรไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ สถาบันคลังสมองของชาติ ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และหนังสือพิมพ์โพสทูเดย์ จึงได้จัดทำโครงการภาพอนาคตการเกษตไทย 2563 ขึ้น เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและจัดทำภาพอนาคตการเกษตรไทยในปี 2563 โดยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2553 ถึงพฤษภาคม 2554 ด้วยกระบวนการมองอนาคม (Foresight) จนนำมาสู่ภาพอนาคตการเกษตรไทย จำนวน 3 ภาพ ได้แก่ ภาพไม้ป่า ภาพไม้เลี้ยง และภาพไม้ล้ม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้กับสังคมในการเตรียมรับมือกับอนาคตในมิติใหม่อย่างเท่าทัน รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกันในการสร้างองค์ความรู้ ในการวางแผนและการกำหนดทิศทางการพัฒนาเกษตรของประเทศไทยต่อไป
ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563
ภาพอนาคตการเกษตรไทยที่ให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนซึ่งเป็นทั้งปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศ 2 ประการ คือ การเมืองภายในประเทศ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นำมาสู่ภาพอนาคต 3 ภาพได้แก่ ภาพไม้ป่า ภาพไม้เลี้ยง และภาพไม้ล้ม โดยเปรียบเทียบกับการเติบโตของต้นไม้ที่เป็นผลจากสภาพแวดล้อม และความสามารถในการปรับตัว ดัง Video ต่อไปนี้
ภาพไม้ป่า
ภาพไม้เลี้ยง
ภาพไม้ล้ม
ข้างหลังภาพ