data-ad-format="autorelaxed">
สภาหอการค้าฯ ขอยื้ออีก 1 เดือน! รวมข้อมูลอัตราใหม่ “ภาษีที่ดิน” ฉบับเอกชน เสนอ สศค.-กมธ. ยันขอรวมปัญหาให้สะเด็ดน้ำ ด้าน สมาคมอาคารชุดฯ ต้องการให้ใช้ค่าเฉลี่ย-รีดเฉพาะตัวอาคาร เขย่ายังไม่ลงตัวสำหรับ “อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เสนอปรับแก้ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งเอกชนทุกประเภทธุรกิจประเมินกันว่า หากรัฐยังดันทุรังใช้อัตราที่กำหนด เชื่อว่า ธุรกิจคงพังพาบอย่างไม่เป็นท่า
นายอธิป พีชานนท์ กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้มอบให้หอการค้าแต่ละพื้นที่รวบรวมปัญหาจากประชาชนและผู้ประกอบการ ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้ในปี 2562 มายังส่วนกลาง ล่าสุด แต่ละจังหวัดทยอยส่งมาแล้วกว่า 1,000 ราย คาดว่า จะเสนอมาไม่ต่ำกว่า 10,000-30,000 ราย ทั่วประเทศ หรือ มากกว่านั้น
โดยประเมินว่า การสะท้อนผลกระทบควรรอบรอบ จึงขยายเวลาการส่งข้อเสนอที่จะพิจารณาปรับแก้อัตราภาษีต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และคณะกรรมาธิการออกไปอีก 1 เดือน คือ ต.ค. จากเดิมไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2560 เนื่องจากอีกนานกว่าจะประกาศใช้ ซึ่งทั้งชาวบ้าน เจ้าของสนามกอล์ฟ ศูนย์การค้า บริษัทพัฒนาที่ดิน โรงแรม ธุรกิจเอสเอ็มอี ต่างต้องการให้ปรับลดอัตราภาษี
“ขณะนี้ ระดมแบบสอบถามได้มาเกือบ 1,000 ราย และต้องการความหลากหลายในแต่ละภาคธุรกิจ ไม่ให้ข้อคิดเห็นกระจุกตัวไปในกิจการใดกิจการหนึ่ง และต้องการเจาะลึกลงไปในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้น เราจึงไม่ต้องการด่วนสรุปแบบมั่ว ๆ แต่สิ่งที่ต้องการให้สะท้อนออกมา คือ เจ้าของที่ดิน เจ้าของธุรกิจ ตัวจริง”
นายอธิป กล่าวต่อว่า ในส่วนของต่างจังหวัด เท่าที่ทราบ เจ้าของธุรกิจและชาวบ้านต่างหวาดกลัวว่า “ภาษีที่ดิน” จะทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น จึงไม่กล้าลงทุนต่อ ขณะที่ ข้าราชการผู้ร่างกฎหมายไม่เคยสัมผัสในพื้นที่ จึงไม่ทราบปัญหาที่แท้จริง ทางออกที่เสนอ คือ เพื่อลดความเดือดร้อนกับเจ้าของที่ดิน ควรเก็บอัตราเดียว ลดความหยุมหยิม และไม่ควรคิดภาษีในอัตราก้าวหน้า เพราะจะเปิดช่องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทุจริต หากชาวบ้านไม่พอใจเสียภาษีอัตรานี้ ท้องถิ่นอาจเรียกเงินใต้โต๊ะเก็บภาษีอีกอัตราที่ไม่เกี่ยวข้องได้
สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย
สอดคล้องกับ นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย กรรมการหอการค้าไทย กลุ่มอีสานตอนบน กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กในพื้นที่ชะลอการลงทุน เพราะเกรงว่า เมื่อลงทุนแล้วจะเสียทั้งภาษีส่วนที่เป็นที่ดินและส่วนของตัวอาคารในเชิงพาณิชย์ เพดานสูงสุด 2% ส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ชะงักลง
อย่างไรก็ดี เห็นด้วยสำหรับการจัดเก็บ “ภาษีที่ดินที่ปล่อยรกร้าง” แต่ที่อยู่อาศัย หรือ เอสเอ็มอีสำหรับรายเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น มองว่า ควรเก็บในอัตราที่อยู่อาศัยและต้องต่ำกว่าที่กำหนด
ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์
นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทย และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท นิรันดร์กรุ๊ปฯ
ด้าน นายธำรง ปัญญาวงศ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มนิรันดร์กรุ๊ป กล่าวว่า ไม่ควรใช้ราคาประเมินที่ดินมาคำนวณเพื่อจัดเก็บ ทั้งมูลค่าที่ดินและแยกสิ่งปลูกสร้าง เพราะหากลงทุนธุรกิจประเภทเดียวกัน จะเกิดความเหลื่อมล้ำในการเสียภาษี อาทิ โรงแรม ที่อยู่ทำเลเพลินจิต ราคาตลาด 2 ล้านบาท/ตารางวา ราคาประเมิน 1 ล้านบาท/ตารางวา ส่วนโรงแรมอีกแห่งที่ถนนศรีนครินทร์ ที่ดินราคาประเมิน 100,000 บาท/ตารางวา 10 เท่า หรือ 1,000% ต้องเสียภาษีอัตราพาณิชย์เพดาน 2% ซึ่งต่างกันมาก แต่สิ่งปลูกสร้างมองว่า การลงทุนไม่ต่างกัน เช่น ตารางเมตรละ 40,000 บาท ขณะที่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ที่ดินพร้อมอาคารมูลค่า 15,000-20,000 ล้าน ตามราคาประเมิน หากเก็บภาษีเพดาน 2% จะกระทบมาก โดยเฉพาะการผลักภาระให้ผู้บริโภค อย่างไรก็ดี หากกระทรวงการคลังไม่ผ่อนผัน เชื่อว่า หลายธุรกิจอาจพังทลายล้มหายตายจากจนกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21-23 ก.ย. 2560