data-ad-format="autorelaxed">
ธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.69 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.87% ของมูลค่าจีดีพี มีการจ้างงาน 6.6 ล้านคน ซึ่งในปี 2544 โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกค้าส่งดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ร้านโชห่วย มีสัดส่วน 75% สูงกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีสัดส่วน 25% แต่ผ่านมาถึงปี 2557
ปรากฏว่า สัดส่วนร้านค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วเป็น 61% ขณะที่โชห่วยเหลือเพียง 39% โดยธุรกิจโชห่วยประสบปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชน กระทั่งกระทรวงพาณิชย์พยายามยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง พ.ศ.... เมื่อปี 2544 แต่ในที่สุดกฎหมายดังกล่าวถูกถอดร่างออกไปในปี 2557 ทั้งนี้ ผลการศึกษาตัวเลขจำนวนสาขาร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ในปี 2557 พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 2,589 สาขา เป็น 16,629 สาขา หรือเฉลี่ยขยายตัวปีละ 26% ในช่วง 15 ปี นับจากปี 2544 ซึ่งมีมูลค่า 0.21 ล้านล้านบาทเป็น 1.03 ล้านล้านบาทในปี 2557
ผลศึกษาดังกล่าวพบว่า ปัญหาเกิดจากพฤติกรรมการขยายสาขา โดยพยายาม "ลดขนาด" ลงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จนมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า ทำให้เกิดพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อ 3 กลุ่ม คือ 1)กลุ่มโชห่วยที่ต้องแข่งขันกับร้านค้าร้านสะดวกซื้ออย่างรุนแรง เพราะจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกัน และยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุน
2) กลุ่มผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย (ซัพพลายเออร์) มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าค้าปลีกสมัยใหม่ จึงถูกขอให้ลดราคาจำหน่ายต่ำลงอย่างมาก และต้องจ่ายค่าวางสินค้า เพื่อจะได้มีพื้นที่วางขายในร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่
3)ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ สามารถนำต้นทุนจากการเปิดสาขาใหม่ไปรวมกับบัญชีรายรับ-รายจ่าย ณ สำนักงานใหญ่ หรือนำผลดำเนินการของแต่ละสาขามาคำนวณรวมที่ส่วนกลางได้ ก่อให้เกิดความได้เปรียบร้านค้าปลีกดั้งเดิมที่ต้องเสียภาษีเต็มเป็นรายนิติบุคคล ส่วนกลุ่มผู้บริโภค เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก เพราะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง และมีคุณภาพมากขึ้น
ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาธุรกิจค้าปลีก จำเป็นต้องมี "กฎหมายประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง" เพื่อกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโดยเฉพาะ และในระหว่างที่ยกร่างกฎหมายควรมีการปรับแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อบังคับใช้ไปพลางก่อน เช่น กฎหมายควบคุมอาคารประเด็นการอนุญาตให้มีการตั้ง/ขยายสาขา ร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ประมวลกฎหมายรัษฎากรประเด็นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล กฎหมายการแข่งขันทางการค้าต้องบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลักดันกฎหมายแฟรนไชส์ เพื่อกำกับดูแลให้มีมาตรฐานและมีความเป็นธรรม เป็นต้น
ที่มา ผลศึกษา"โครงสร้างธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข
source: prachachat.net/news_detail.php?newsid=1480411164