กระทรวงอุตสาหกรรม จ่อคลอดนโยบายแร่ทองคำใหม่ หลังถูกดองมา 8 ปี ไม่ปล่อยให้มีการสำรวจ เตรียมชงครม.ไฟเขียว กลางปีนี้ คาดอนุมัติได้ไม่ต่ำกว่า 100 ใบ กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ใน 11 จังหวัด มีปริมาณทอง 170 ตัน โดยมีเงื่อนไขแหล่งไหนทองคำหนาแน่นเปิดประมูลแข่ง ยันมีนักลงทุนรายเก่าอย่างอัคราไมนิ่ง และทุ่งคำ รออนุมัติอยู่แล้ว
ถือเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"กับความคาดหวังการออกอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรเหมืองทองคำ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสายแร่ทองคำที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดก็ว่าได้ เมื่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) ออกมาระบุว่า แม้ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด หลังจากการออกอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรค้ามานานถึง 8 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ได้มติให้ชะลอ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
เนื่องจากผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐจะได้รับน้อยเกินไป รวมทั้งระบบการจัดการเหมืองแร่ทองคำยังไม่มีมาตรฐานที่เพียงพอ จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปปรับหลักเกณฑ์การให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรใหม่ ซึ่งมั่นใจว่าหากมีการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเสนอให้ครม.อนุมัติให้ประกาศยื่นขอได้อีกครั้งในรัฐบาลปัจจุบัน
-เดินหน้ารับฟังความเห็น
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งให้กพร.จัดทำนโยบายการสำรวจและให้สัมปทานแร่ทองคำใหม่ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จากเดิมที่เคยมีมติให้ชะลอการออกใบอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจแร่ทองคำในสมัยที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากขณะนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำหนังสือมายังกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้ทบทวนการให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตร จากที่มีผู้มายื่นขอ 8 ราย รวม 66 แปลง พื้นที่สำรวจกว่า 4 แสนไร่ ครอบคลุมในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ สตูล ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ร้องเรียนถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประโยชน์การใช้ที่ดิน
โดยระหว่างที่ชะลอการให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรแร่ทองคำนั้น ทางครม.ก็มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อมูลการลงทุนสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในไทย เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของรัฐต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาทางกพร.ก็ดำเนินการมาเป็นระยะ จนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา กพร.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ทองคำเป็นครั้งที่ 2 ไปแล้ว และในเร็วๆนี้ จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และหลังจากนั้นจะสรุปข้อเสนอแนะต่างๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา เข้าสู่การเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี(ครม.) และหลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกาศให้ผู้สนใจเข้ามายื่นขออาชญาบัตรพิเศษ หรือมีการพิจารณาอาชญาบัตรพิเศษที่มีการยื่นขอมาแล้ว ซึ่งเร็วสุดคาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วงกลางปีนี้
-พบปริมาณทองสูงถึง170ตัน
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองทองคำกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 800 ตัน แต่มีศักยภาพทำเหมืองได้แค่ 170 ตัน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุน 7-8 ราย ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อขอทำการสำรวจแร่ กระจายอยู่พื้นที่ใน 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ปราจีนบุรี ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สระบุรี สตูล และสระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ทำเหมืองแร่ทองคำอยู่แล้ว อย่าง บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รวมถึงนักลงทุนรายใหม่จากออสเตรเลีย และจีน ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุน เป็นต้น
ทั้งนี้ การให้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่แต่ละแปลงจะอนุมัติได้ไม่เกิน 1 หมื่นไร่ เท่ากับว่าจะสามารถอนุมัติสำรวจแร่ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ใบ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
-แข่งเปิดประมูลสำรวจแร่
โดยหลังจากประกาศนโยบายแร่ทองคำออกมาได้แล้ว คงต้องมาพิจารณาดูว่าอาชญาบัตรที่มีผู้ยื่นขอไว้แล้ว จะสามารถพิจารณาได้เลยทันทีหรือไม่ หรือต้องให้มีการยื่นเข้ามาขอใหม่ ซึ่งอาจต้องพิจารณาเป็นแปลงๆ ไป เนื่องจากนโยบายใหม่ ระบุถึงกรณีที่พื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ทองหนาแน่น และมีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษ จำนวนหลายราย จะต้องมีการเปิดประมูลสิทธิ์ในที่ดิน โดยเสนอผลตอบแทนสูงสุดแก่รัฐ เพื่อเป็นการป้องกันการยื่นขอที่ซ้ำซ้อนกัน และยังเป็นการกระจายการสำรวจแร่สู่รายใหม่ๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ที่มีการเสนอขออาชญาบัตรก่อนก็จะได้สิทธิ์ไปก่อนถือเป็นการจองสิทธิ์ไว้ โดยไม่มีการสำรวจ
ดังนั้น เงื่อนไขใหม่นี้จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้อยากลงทุนจริงๆ และจะช่วยให้เกิดการตื่นตัวที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
-คุมเข้มด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับนโยบายแร่ทองคำใหม่นี้ จะมีความพิเศษกว่าฉบับเดิม ซึ่งกพร.จะออกมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องพิจารณากลั่นกรองและทำให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งการตรวจสอบการกำกับดูแล และการดูแลพื้นที่เหมืองหลังหมดสัมปทาน โดยพยายามให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบรับรู้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น และผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ จะต้องให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ชุมชนโดยรอบ เช่น ควรมีโครงการเฝ้าระวังสุขภาพ หรือกองทุนดูแลหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ให้กับชุมชนรอบเหมืองพร้อมทั้งได้กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ทำเหมืองแร่ทองคำต้องดำเนินการแต่งแร่ทองคำให้บริสุทธิ์ (รีไฟน์) ขึ้นในไทย จากปัจจุบันที่ส่งออกไปรีไฟน์ยังต่างประเทศ ซึ่งจะเกิดการจ้างงานแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย และรายได้เกิดกับประเทศ
ส่วนกรณีผลประโยชน์ตอบแทนรัฐนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์ตกแก่รัฐมากที่สุด จากเดิมที่เก็บไม่เกิน 30% ของมูลค่าแร่ ซึ่งต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับมูลค่าแร่ที่ได้ ส่วนจะเก็บในอัตราใดนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป จากที่เคยมีการเสนอให้เก็บในอัตรา 40-60% ตามความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ทองคำ
นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุน โดยระหว่างที่มีการสำรวจแร่ทองคำจะไม่กำหนดสัดส่วนของผู้ร่วมทุน แต่เมื่อพบประมาณแร่และนำไปสู่การขอประทานบัตร จะต้องให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยสูงกว่าต่างประเทศ เพื่อให้ทรัพยากรแร่ตกอยู่ในประเทศมากที่สุด
- ตกหลุมอากาศ8ปี
ด้านนายสมพร อดิศักดิ์พานิชกิจ เลขาธิการสภาการเหมืองแร่ กล่าวในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่มีสมาชิกจากกลุ่มผู้ประกอบการกว่า2 พันรายทั่วประเทศว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วมีการท้วงติงจากหลายฝ่ายว่ารัฐต้องปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตทำเหมืองทองคำโดยเฉพาะประเด็นผลตอบแทนของภาครัฐ เช่น ค่าภาคหลวง และเรื่องผลตอบแทนที่รัฐควรได้รับ
ทั้งนี้เนื่องจากแร่ทุกตัวเวลาออกประทานบัตรจะต้องมีเกณฑ์กำหนดว่ารัฐจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ในแต่ละประทานบัตรนั้นๆซึ่งไม่เท่ากัน เช่น หินปูนคำนวณว่ามีจำนวนกี่ล้านตันก็จะมีราคาประเมินจากรัฐกำหนด โดยผลตอบแทนรัฐเก็บจากมูลค่าแร่สำรองในประทานบัตรนั้นๆ
นอกจากนี้ 8 ปีที่เราเสียเวลายังเกิดจากที่เปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ และปัญหาการเมืองภายในประเทศยังไม่เรียบร้อย ทำให้การพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตทำเหมืองทองคำล่าช้าต่อเนื่อง ซึ่งขณะนั้นมีผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าสำรวจแหล่งแร่ทองคำที่ค้างการพิจารณาในขั้นคำขออาชญาบัตรเป็นจำนวนหลายแปลง เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวจนคืบหน้าและพร้อมออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่ทองคำ โดยที่ภาครัฐได้ประโยชน์จากผลตอบแทนจากเหมืองแร่ทองคำมากขึ้นแล้วถือเป็นเรื่องดีต่อประเทศ
นายสมพร อธิบายถึงขั้นตอนการทำเหมืองแร่ชนิดต่างๆนั้น จะเริ่มต้นจาก 1.ขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่ในพื้นที่ต่างๆ 2.นำผลสำรวจมาขอประทานบัตร 3. สำรวจรายละเอียดอีกครั้งพร้อมเปิดทำเหมือง ซึ่งปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการที่ทำเหมืองแร่ทองคำแล้ว เช่น บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ที่จังหวัดพิจิตร และ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่จังหวัดเลย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีชุมชนคัดค้านปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง
"เสียงคัดค้านในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้นภาครัฐจะต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านนั้นมีมาตรการป้องกันอย่างไร ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องดูว่าโครงการในลักษณะนี้มีผลดีต่อเศรษฐกิจรวมของประเทศอย่างไร ภาคเอกชนและรัฐบาลมีมาตรการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมดีหรือไม่ ก่อนที่จะปล่อยอาชญาบัตรหรือประทานบัตรให้แก่ผู้ประกอบการ"
สำหรับแหล่งที่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของแร่ทองคำนั้นจะกระจายอยู่หลายจังหวัด เช่น ลพบุรี พิจิตร เลย พิษณุโลก ปราจีนบุรี นครสวรรค์ ลำปาง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีบางแห่งที่ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียสำรวจพบว่ามีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ที่จ.พิจิตร
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,049 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558