data-ad-format="autorelaxed">
ราคาน้ำมันผันผวน
มีหลายกระแสเหลือเกิน เกี่ยวกับราคาน้ำมัน ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ในช่วงแรกๆก็มีกระแสว่า สาเหตุที่น้ำมันลดราคานั้น เป็นการจับมือกันระหว่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา กับประเทศมหาอำนาจทางน้ำมันในกลุ่ม OPEC เพื่อจะทำราคาน้ำมันดิบให้ลดลงมากที่สุด เพื่อทำลายเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งพึ่งพาการส่งออกน้ำมันดิบเป็นหลักอยู่ด้วยเช่นกัน จากนั้นไม่นาน กระแสต่อมาและชัดเจนกว่ากลับกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางน้ำมัน ต้องการผลิตน้ำมันออกมาจำนวนมาก ให้ล้นตลาด เพื่อทำให้น้ำมันราคาถูกลง และมีความต้องการให้บริษัทค้าน้ำมันที่เป็นคู่แข่งสำคัญแต่มีขนาดเล็กกว่า และมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ไม่สามารถต่อสู้กับราคาน้ำมันที่ลดลงได้ จนทำให้เกิดการขาดทุนสะสม ส่งผลให้จำเป็นต้องลดขนาดกิจการลงไปอีก หรือปิดกิจการลงไปในที่สุด เพื่อเป็นการกำจัดคู่แข่ง แต่กระแสที่น่ากลัวสำหรับกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางด้านน้ำมัน ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้พอดี คือ Toyota จำหน่าย Mirai รถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ออกสู่ตลาด และมียอดจองเกินเป้าปี 2015 มากถึงสองเท่า โดย Toyota มีเป้าวางจำหน่ายทั่วโลกเพียง 700 คันในปี 2015 และหลังจากเปิดจอง เพียงแค่ในประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวเท่านั้น กลับมียอดจองมากกว่า 1400 คันเลยทีเดียว นี่คือฝันร้ายของผู้ค้าน้ำมัน และเป็นฝันดีของคนทั้งโลกหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงฝันเหมือนที่เคยเป็นมา
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน กระทบกับภาคเกษตร?
เป็นที่แน่นอนว่า หากมีรถยนต์พลังงานทางเลือกจำหน่ายในประเทศไทยเรา ย่อมต้องกระทบกับราคาน้ำมันแน่นอน และราคาน้ำมันก็กระทบกับแทบจะทุกธุรกิจ รวมไปถึงเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ นอกเหนือจากน้ำมันอีกด้วย เมื่อกระทบกับธุรกิจพลังงานทั้งหมด ก็กระทบกับโรงงานการผลิตต่างๆ และคงปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
พืชพลังงานกระทบมากหน่อย อ้อย มันสำปะหลัง ก็เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์เช่นกัน และภาคการขนส่งที่ให้บริการภาคเกษตร อาจจะมีต้นทุนที่ถูกลง โรงงานการผลิต อย่างโรงแป้ง โรงน้ำตาล ก็มีต้นทุนที่ถูกลง แต่ยากจะคาดเดา ว่าทิศทางราคาสินค้าเกษตรแต่ละตัวจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ทฤษฎีความขาด อาจจะโดนทดแทนด้วยทฤษฎีของความเหลือเฟือ ด้วยต้นทุนการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรมของทั้งโลกต่ำลง ความสามารถในการผลิตสูงขึ้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยเลย.
เกี่ยวกับ Toyota Mirai
เมืองนาโกย่า หรือโตโยต้า ซิตี้ ประเทศญี่ปุ่น 18 พฤศจิกายน 2557 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวรถรุ่นใหม่ ‘มิไร’ รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell Vehicle – FCV) และจะจำหน่ายในตลาดรถยนต์ประเทศญี่ปุ่นวันที่ 15 ธันวาคม 2557 โตโยต้า มิไร ส่งสัญญาณว่ายุคใหม่แห่งยานยนต์โตโยต้าเริ่มต้นแล้ว ด้วยการเป็นยนตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบาย สุนทรียภาพในการขับขี่ มิไร ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในอนาคต ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
มิไร
โตโยต้า มิไร ใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า (Toyota Fuel Cell System—TFCS) มีต้นกำเนิดจากการผสานการทำงานของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงกับนวัตกรรมไฮบริด รวมถึง ระบบเซลล์เชื้อเพลิงลิขสิทธิ์ใหม่ล่าสุดของโตโยต้า อย่าง เซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้า (FC Stack) และถังเก็บไฮโดรเจนแรงดันสูง สำหรับระบบเซลล์เชื้อเพลิงโตโยต้านั้น กล่าวได้ว่าประหยัดพลังงานกว่าระบบเครื่องยนต์เผาไหม้และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ สารที่มีผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ (Substance of Concern—SOCs) ในระหว่างการขับขี่ โดยผู้ขับขี่จะได้สัมผัสการขับขี่ที่สะดวกสบาย และขับได้ในระยะทางที่ไกล รวมถึงใช้เวลาในการเติมพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแค่ประมาณสามนาที
มิไร เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ยานยนต์รุ่นใหม่ควรจะมี ทั้งดีไซน์โดดเด่นสะดุดตา ประกอบกับการขับขี่ที่เหนือชั้นด้วยเสถียรภาพแห่งการควบคุมยานยนต์ที่เหนือกว่า โดยมาจากศูนย์ถ่วงต่ำของรถ ความเงียบแต่ปราดเปรียวทรงพลังจากมอเตอร์ไฟฟ้า โตโยต้า มิไร ยังประกอบไปด้วยระบบเทเลมาติกส (Telematics Service) เพื่อให้มั่นใจว่าการขับขี่จะปลอดภัย มีเสถียรภาพ และสะดวกสบาย รถรุ่นนี้ยังสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ทรงประสิทธิภาพถึงสองเท่า หากเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ภัยพิบัติ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ
พลังงานไฮโดรเจน ถือเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกอีกประเภทหนึ่ง ผลิตได้จากแหล่งต้นกำเนิดพลังงานที่หลากหลาย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เมื่อได้รับแรงอัด มวลความหนาแน่นของพลังงานไฮโดรเจนจะสูงกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งความสะดวกในการเก็บรักษา และการขนส่ง นอกเหนือจากอรรถประโยชน์ในฐานะเชื้อเพลิงสำหรับที่อยู่อาศัยและวงการยานยนต์แล้ว พลังงานไฮโดรเจนยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมาย รวมทั้ง เป็นแหล่งสร้างพลังงานขนาดใหญ่ ดังนั้น รถยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง หรือ FCV จึงสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจนได้ หมายถึง มันจะนำไปสู่ภาพอนาคตของสังคมที่จะพึ่งพาพลังงานไฮโดรเจน และเพิ่มความหลากหลายในการผลิตพลังงานให้มากขึ้น
อ้างอิง thairath.co.th