data-ad-format="autorelaxed">
พ่อค้ากดราคาข้าวโพด
ชาวไร่ข้าวโพดร้องระงม ถูกพ่อค้ากดรับซื้อเแค่ 2.50-4 บาท/กก. วอนรัฐช่วยประกันราคาไม่ต่ำกว่า 6 บาท เฉ่งตลาดประชารัฐไม่ตอบโจทย์ ด้านสภาเกษตรกรทำหนังสือร้อง “ประยุทธ์”ช่วยสินค้าเกษตร”ข้าว ข้าวโพด มันสัมปะหลัง”ตกต่ำ เหตุกลุ่มอาหารสัตว์แห่นำเข้าข้าวสาลีทุบราคา ด้านนายกฯอาหารสัตว์ยันซื้อ 8 บาท/กก.บนเงื่อนไขซื้อจากผู้ค้าตามสเปก
นายมิ่ง วันทอง เกษตรกรชาวผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในเขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ 11 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าราคาข้าวโพดในฤดูการผลิต ปี2559/60 ตกต่ำอยางมากขายได้แค่ 4 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ปีที่แล้วยังขายได้ 6 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้เป็นเพราะถูกกดราคาเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ขณะตลาดในโครงการประชารัฐก็ไม่ตอบโจทย์ได้ เพราะสิ่งที่ทุกคนต้องการไม่ใช่ตลาด แต่ต้องการราคาผลผลิตที่ดี ไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า
“รัฐควรกำหนดราคาประกันรับซื้อผลผลิตเช่น อย่างน้อยไม่ให้ต่ำกว่า 6 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อให้อยู่ได้ อย่างไรก็ดี ยังมีบางพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียงได้ราคาต่ำกว่านี้ อาทิอำเภอ.แม่สอด จังหวัดตาก ได้ราคา 2.50 บาท/กก. ขณะที่ลพบุรี 3 บาท และเชียงราย 3.90 บาท/กก. เป็นต้น”
สอดคล้องกับ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติที่ระบุว่า ผลผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์ทั้งประเทศในปี 2559 ตามข้อมูลที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินคาดจะมีประมาณ 4.57 ล้านตัน และจะมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในแต่ละปีเฉลี่ย 6 แสนกว่าตัน รวมแล้วประมาณ 5 ล้านตันเศษ ขณะที่ความต้องการโรงงานอาหารสัตว์ในแต่ละปีมีความต้องการอยู่ที่ 8 ล้านตัน
“ตั้งคำถามว่าทำไมโรงงานอาหารสัตว์ บอกว่าขาดแคลนผลผลิตแล้วทำไมถึงไม่ซื้อในประเทศ แต่กลับมีการนำเข้าข้าวสาลีต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งๆที่ราคาช่วงผลผลิตออกมาปกติ ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-8 บาท ณ หน้าไซโล และช่วงผลผลิตขาดแคลนเคยขายได้ถึง 9-10 บาทต่อกิโลกรัม”
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อนำมาทดแทนพืชกลุ่มคาร์โบไฮเดรตของไทยและของประเทศเพื่อนบ้านในการผลิตเป็นอาหารสัตว์ ในปี 2559 โดยทางอุตสาหกรรมอาหารสัตว์คาดการณ์เพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกจำนวน16 ล้านตัน ต้องการใช้พืชคาร์โบไฮเดรต 50-55% ของจำนวนทั้งหมด (ดูตารางประกอบ)
“ในปี 2559 นำเข้าข้าวสาลีสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.918 ล้านตัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ในช่วงเวลาเดียวกันมีการนำเข้าเพียง 1.70 ล้านตัน ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้น 12.35% เมื่อรวมแล้วคิดเป็น 12.44 ล้านตันเกินความต้องการใช้ ส่งผลทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรความชื้น 14.5 % ราคาขายอยู่ที่ 4.50-5.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ 6.81 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคามันสำปะหลังเกษตรกรขายได้เพียง ราคา 80 สตางค์-1.20 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ 1.91 บาท”นายประพัฒน์กล่าวและว่า
นอกจากนี้ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 3 ข้อ 1.ขอให้ชะลอการนำเข้าข้าวสาลี ลัง 2.การกำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวสาลีที่นำมาใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และ 3.ขอให้มีผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นคณะทำงานวางแผนการผลิต การตลาดและวัตถุดิบอาหารสัตว์ครบวงจร
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่าที่ผ่านมาทางสมาคมได้มีความตกลงกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 14.5% ไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. โดยในราคาดังกล่าวตั้งอยู่บนเงื่อนไขการซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางหรือคนรวบรวมข้าวโพดส่งถึงหน้าโรงงาน ไม่ได้ซื้อตรงจากเกษตรกร เพราะในทางปฏิบัติทางโรงงานไม่สามารถไปรวบรวมผลผลิตที่อยู่กระจัดกระจายในหลายพื้นที่ได้ อย่างไรก็ดีทางสมาคมได้รับปากกระทรวงพาณิชย์จะนำเข้าข้าวสาลีไม่ให้เกินจากปีที่แล้ว
source: thansettakij.com/2016/09/27/100878