data-ad-format="autorelaxed">
ข้าวโพด จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากข้าวโพดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ข้าวโพดเป็นพืชที่ปลูกง่าย การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากนัก แต่ในเขตจังหวัดสกลนคร ข้าวโพดที่เกษตรกรนิยมปลูกมักจะเป็นข้าวโพดฝักสด ซึ่งหมายถึงข้าวโพดที่ปลูกที่นิยมนำฝักมาบริโภคสด เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งหมายถึง ข้าวโพดที่ปลูกที่นำเอาฝักอ่อนหรือฝักที่ยังไม่มีเมล็ดมาบริโภคในรูปของผัก ส่วนใหญ่การปลูกข้าวโพดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
พันธุ์ที่ปลูก
ข้าวโพดทุกชนิดหรือทุกสายพันธุ์สามารถนำมาปลูกเพื่อผลิตข้าวโพดฝักอ่อนได้แต่พันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกมี 3 พันธุ์คือ
1. พันธุ์สุวรรณ 2 เป็นข้าวโพดไร่ เมล็ดสีส้ม หัวใส อายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน ช่วงเก็บเกี่ยว 10 วัน
2. พันธุ์สุวรรณ 1 เป็นข้าวโพดไร่ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45-50 วัน ช่วงเก็บเกี่ยว 10 วัน
3. พันธุ์รังสิต 1 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน ช่วงเก็บเกี่ยว 10 วัน
4. พันธุ์รังสิต 2 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน
ขั้นตอนการผลิต
1. การเตรียมดินปลูก
ไถดินหรือขุดดินลึก 20-25 เซนติเมตร ตากดินไว้ 7-15 วัน เพื่อทำลายเชื้อโรค ไข่แมลงและวัชพืช โรยปูนขาวลงไปเพื่อปรับสภาพดิน ทำการยกร่องแปลง กว้าง 70-80 เซนติ เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ขนาดที่ดิน ระยะระหว่างร่องแปลงปลูก 20-25 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับดินให้ร่วนซุย คลุกเคล้าให้เข้ากัน
2. การปลูก
ระยะปลูกระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูก รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 21-0-0 หลุมละ 1 ช้อนชากลบดินบาง ๆ หยอดเมล็ดลงหลุมปลูก หลุมละ 2-3 เมล็ด กลบดินบาง ๆ
3. การดูแลรักษา
3.1 การให้น้ำ มีการให้น้ำโดยปล่อยเข้าตามร่องแปลงทุก 3 วัน หรือขึ้นอยู่กับสภาพดินปลูก
3.2 การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยหลังจากข้าวโพดงอกแล้ว 14-21 วัน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 หว่านที่ร่องน้ำข้าง ๆ ต้นแล้วกลบโคนดิน ต้นละ 1 ช้อนชา และใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังข้าวโพดงอกแล้ว 35-40 วัน หรือเริ่มติดฝักอ่อน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างแถวปลูก แล้วพูนโคนกลบดิน
3.3 การป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะทำการถอนหญ้าพร้อมกับการกลบปุ๋ยและพูนโคนต้น เพื่อป้องกันไม่ให้โค่นล้ม และมีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง กลุ่มไดโคฟอล เพื่อป้องกันกำจัดหนอนเจาะต้น
3.4 การดึงช่อดอกตัวผู้ เมื่อต้นข้าวโพดเจริญเติบโต ประมาณ 38-45 วัน จะเกิดช่อดอกตัวผู้ซึ่งจะอยู่ในระหว่างใบธง เกษตรกรก็จะดึงช่อดอกตัวผู้ออกก่อนที่ช่อดอกจะคลี่บาน หลังจากดึงช่อดอกตัวผู้แล้ว จะทำให้ฝักอ่อนที่เกิดจากช่อดอกตัวเมียมีการเจริญเติบโตดี ฝักมีความสมบูรณ์ การไว้จำนวนฝักอ่อนจะเก็บได้ 1-3 ต่อต้น โดยฝักที่สมบูรณ์ที่สุดจะอยู่ที่ฝักส่วนบนสุด และฝักที่ 2 และ 3 มักจะไม่สมบูรณ์ แต่หากดึงช่อดอกตัวผู้ได้เร็วจะทำให้ฝักอ่อนเจริญเติบโตดีทั้ง 3 ฝัก
4. การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักอ่อน เกษตรกรจะใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักอ่อน ดังนี้
4.1 วิธีการสังเกตการเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักอ่อน อาจใช้วิธีนับวันจากเริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวได้อายุประมาณ 40-45 วัน วิธีนี้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ข้าวโพด และหากปลูกในฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าช่วงฤดูหนาว
4.2 การสุ่มตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่างโดยอาศัยวิธีการนับอายุข้าวโพดหลังจากวันปลูกและสังเกตจากความยาวของไหมที่โผล่ออกมาจากฝักอ่อนซึ่งควรยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร หรือ 1 นิ้วข้อมือ เมื่อนำมาปอกเปลือกดูความยาวของฝักประมาณ 4-10 เซนติเมตร ความกว้างในช่วง 1-1.5 เซนติเมตรก็สามารถทำการเก็บเกี่ยวได้
5. การจำหน่าย
ลักษณะการซื้อขายข้าวโพดฝักอ่อนหรือจำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูปข้าวโพด โดยผ่านพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามารับซื้อจากเกษตรกรโดยซื้อในลักษณะปอกเปลือกแล้ว ราคาซื้อขายขึ้นลงอยู่เสมอตามฤดูกาล ในช่วงฤดูฝนข้าวโพดจะขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาทในช่วงฤดูแล้วราคากิโลกรัมละ 8-12 บาท
จาก pongrang.com