data-ad-format="autorelaxed">
ดอกชงโค เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อมสูงประมาณ ๕-๑o เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายใบเว้าลึกมาก ปลายใบทั้งสองด้านกลมมน มองดูคล้ายใบแฝดติดกัน (คล้ายใบกาหลง แต่เว้าลงลึกกว่า) ใบทั้งสองด้านมักพันเข้าหากันเหมือนปีกผีเสื้อ ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นใบแฝด (เหมือนกาหลง) เพราะปกติใบไม้ทั่วไปจะมีปลายใบแหลม หรือกลมมน ลักษณะของชงโคเป็นพุ่มค่อนข้างกว้างและใบดกทึบ เป็นต้นไม้ผลัดใบในฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) แล้วผลิใบ ใหม่ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม
ดอก ชงโคจะเริ่มออกดอกหลังจากผลิใบชุดใหม่ออกมาแล้ว คือหลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อยาวกว่าดอกกาหลง แต่ละช่อมีดอกย่อยราว ๖-๑o ดอก แต่ละดอกมีกลีบย่อย ๕ กลีบ รูปทรงคล้ายดอกกล้วยไม้ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาว ๕ เส้น ยื่นไปด้านหน้าและปลายโค้งขึ้นด้านบน มีเกสรตัวเมียอยู่ตรงกลาง ๑ เส้น มีความยาวและโค้งขึ้นสูงกว่าเกสรตัวผู้ ดอกบานเต็มที่กว้างราว ๗-๙ เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกชงโคมีสีชมพูถึงม่วงแดง ผันแปรไปตามสายพันธุ์ของแต่ละต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หากต้องการให้มีสีเดียวกัน ต้องใช้วิธีขยายพันธุ์ด้วยกิ่ง เช่น ติดตาหรือทาบกิ่ง ดอกชงโคติดต้นอยู่ได้นาน
ผล ลักษณะเป็นฝักแบนคล้ายฝักถั่ว แก่ประมาณเดือนกันยายน-ธันวาคม ขนาดกว้างราว ๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๒o เซนติเมตร เมล็ดค่อนข้างแบน ฝักแก่จะแตกออกเป็นสองซีกตามความยาวของฝัก
ถิ่นกำเนิดเดิมของชงโคอยู่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า ไทย กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ในประเทศไทยพบขึ้นปะปนอยู่กับต้นไม้ชนิดอื่นๆ ในป่าโปร่งผสม และป่าเบญจพรรณ ทางภาคเหนือและภาคกลางจะพบมากกว่าภาคอื่น คนไทยรู้จักชงโคมาตั้งแต่อพยพมาอยู่พื้นที่ประเทศ ไทยปัจจุบัน ชื่อชงโคมีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทย สมัยอยุธยาเป็นต้นมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. ๒๔๑๖ อธิบายเกี่ยวกับชงโคไว้ว่า"ชงโค เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งเหมือนอย่างต้นกาหลง แต่สีมันแดง" แสดงว่าคนไทยกรุงเทพฯ สมัย ๑๓๒ ปีก่อนโน้น รู้จักทั้งกาหลงและชงโคเป็นอย่างดี ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่สีของดอกเท่านั้น เพราะกาหลงมีกลีบดอกสีขาว ส่วนชงโคกลีบดอกออกไปทางสีแดง (ชมพู-ม่วง) ชื่อที่เรียกกันในเมืองไทยคือ ชงโค (กรุงเทพฯ-ภาคกลาง) เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน) เสี้ยวดอกแดง (เหนือ) ภาษาอังกฤษ เรียก ORCHID TREE
การดูแล ชงโคเป็นไม้ที่ชอบแดด ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดทั้งวัน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง
ประโยชน์ของชงโค
ชงโคมีสรรพคุณด้านสมุนไพร ตามตำราแพทย์แผนไทย ดังนี้
เปลือกต้น : แก้ท้องเสีย แก้บิด
ดอก : แก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี เป็นยาระบาย
ใบ : ฟอกฝี แผล ราก : ขับลม
อ้างอิง : http://www.the-than.com/