data-ad-format="autorelaxed">
เปิดชีวิตเกษตรกรรุ่นใหม่ โครงการสปก. จากมนุษย์เงินเดือน-ไร้เงินเก็บ ผลิกผันพึ่งพิงธรรมชาติบนผืนดิน 2 ไร่ สร้างรายได้ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง
เปิดปูม ‘เกษตรกรรุ่นใหม่’ จากพนง.บริษัท-คนว่างงาน สู่ฐานภาคเกษตร
“ผมไม่เคยทำเกษตรมาก่อน และคิดว่าอาชีพเกษตรกรไม่น่าทำ เพราะส่วนใหญ่ยากจน เป็นหนี้สิน เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทำยังไงก็ไม่พอกินพออยู่ เลยคิดว่าไม่น่าจะยึดเป็นอาชีพหลักที่มั่นคงได้ แม้ว่าพี่น้องจะเป็นเกษตรกรกันหมด ” ‘ชัยชนะ สืบสิงห์’ อดีตมนุษย์เงินเดือนผู้ใช้ชีวิตทำงานในบริษัทและโรงงานมามากกว่า 10 ปี วันนี้เขาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพ เล่าย้อนความหลัง
4 ปีก่อน ‘ชัยชนะ’ อยู่ในสถานะคนว่างงานเพราะบริษัทขาดสภาพคล่อง เขากลับไปอยู่บ้านกับพี่ชายที่จ.กาฬสินธุ์ และได้รับจดหมายประชาสัมพันธ์ให้สมัครเข้าร่วม ‘โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่’ จากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. ‘ชัยชนะ’ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการทันทีที่ แม้ไม่เคยเชื่อว่าอาชีพเกษตรกรจะสร้างอนาคตให้เขาได้ เหตุผลหลักที่จูงใจ คือ ผู้ผ่านการอบรมในโครงการจะได้รับการจัดสรรที่ดินฟรี
“ตอนนั้นคิดว่า เราทำงานมาสิบกว่าปี เงินเดือนเดือนละสองหมื่นก็เคยได้ แต่ก็ไม่เคยมีเงินเก็บพอที่จะซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ พอโครงการนี้บอกว่าจะให้ที่ดินฟรีเลยเข้าอบรม” เกษตรกรรุ่นใหม่รุ่นที่ 1 จากศูนย์อบรมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา กล่าว
ปลายปี 55 ‘จินตนา ผลศิริ’ พนักงานบริษัทบัญชี ประสบการณ์ 12 ปี วัย 36 ตัดสินใจลาออกจากงานเพราะเบื่อหน่ายสถานะมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีเวลาให้ครอบครัวและไม่มีเงินเก็บ เธออ่านนิตยสารฉบับหนึ่งและเจอเรื่องราวของ ‘ชัยชนะ สืบสิงห์’ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการปลูกผักปลอดสารพิษขายและมีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ‘จินตนา’ ตัดสินใจเดินทางไป ‘นิคมเศรษฐกิจพอเพียงวังน้ำเขียว’ จ.นครราชสีมา เพื่อขอคำแนะนำการทำเกษตรจาก ‘พี่ชัยชนะ’ และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอไปที่สปก.นครราชสีมาและสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่รุ่นที่ 7 ทันที
กลางเดือนมีนาคม 56 ‘จินตนา’ ผู้ซึ่งไม่เคยจับจอบขุดดินทำเกษตรมาก่อนผ่านการอบรมหลักสูตรพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ จากวิทยาลัยเกษตรฯนครราชสีมา เวลานี้เธอกลายเป็นเกษตรกรเต็มตัวบนพื้นที่ 2 ไร่ครึ่งที่วังน้ำเขียวซึ่งสปก.จัดสรรที่ดินให้ โดยรวมกลุ่มปลูกผักสลัดปลอดสารพิษซึ่งขายได้ราคาดีร่วมกับเพื่อนในรุ่น และมีรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 20,000 บาท
โรงเรียน(สร้าง)เกษตรกร สอนสาวโรงงาน-ทนาย-นักธุรกิจใช้จอบพรวนดิน!
“ในวิทยาลัยฯเขาสอนตั้งแต่การใช้จอบ เปรียบเหมือนการเริ่มต้นจากชีวิตที่ไม่มีอะไร มีแต่จอบด้ามเดียวไว้ถางหญ้าพรวนดิน เราได้เรียนวิธีปลูกผัก ทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ เพาะเห็ด ทำเห็ดหยอง ทำน้ำสลัด .... คนที่ไม่เคยทำเกษตรก็ได้ฝึกทำจนเป็น” อดีตพนักงานบัญชีเล่าถึงความรู้ที่ได้รับจากการอบรมเชิงปฏิบัติในวิทยาลัยเกษตรฯเป็นเวลา 2 เดือน เธอเล่าว่าผู้เข้ามาร่วมอบรมในรุ่นที่ 7 จำนวน15 คน ที่จ.นครราชสีมา มีทั้งพนักงานบริษัท ทนายความ คนทำธุรกิจส่วนตัวและเกษตรกรที่ต้องการมาหาความรู้เพิ่มเติม
‘สุกัญญา ใจฟั้น’ อาจารย์วิทยาลัยเกษตรฯนครราชสีมาผู้มีส่วนปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบันกล่าวว่า ผู้เข้าร่วมอบรมในรุ่นแรกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ไม่มาก เนื่องจากโครงการยังไม่จำกัดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ม.6 โดยรุ่นหลังๆมานี้ เมื่อมีการจำกัดคุณสมบัติผู้เข้าอบรม การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนไปเป็นพนักงานบริษัท-โรงงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ และมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นเกษตรกร
“การอบรมเกษตรกรในรุ่นแรกๆ เรารับหมดทุกคนไม่จำกัดคุณสมบัติ แต่ปรากฏว่าบางคนเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านไม่ออก ทำให้เขียนแผนอาชีพ หรือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนไม่ได้ จึงต้องมีการจำกัดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งทำให้เราสามารถสอนเขาได้ลึกมากขึ้น สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รู้จักวิเคราะห์วางแผน นำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อได้จริง”
“เราสอนตั้งแต่การใส่ด้ามจอบ การเรียนรู้ระบบน้ำเริ่มตั้งแต่การใช้บัวรดน้ำ พัฒนาเป็นการใช้น้ำหยด สติงเกอร์ ให้เขารู้จักการบริหารน้ำ พอเวลาลงพื้นที่จริง ถ้าน้ำมากหรือน้ำแล้ง ก็จะสามารถนำทักษะการจัดการน้ำที่เรียนรู้มาไปปรับใช้ได้” ‘อ.สุกัญญา’ กล่าว
และด้วยกระบวนการสอนที่เน้นให้เกษตรกรยุคใหม่ รู้จักคิดวิเคราะห์ เข้าใจปัญหา แก้ไขได้ และมองโอกาสทางการตลาดให้เป็น ระหว่างเรียนนักเรียนรุ่น 7 ของ‘อ.สุกัญญา’ ได้ร่วมกลุ่มกันลงหุ้นปลูกผักสลัดขายจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำแม้ยังไม่ผ่านการอบรม
“ช่วงเรียนเรา 15 ลงหุ้นช่วยกันทำสลัดผักปลอดสารพิษที่ปลูกกันเองไปขายที่ตลาดสีคิ้ว ได้เงินวันละ 3,000-4,000 บาท น้ำสลัดก็ทำกันเองประยุกต์จากที่อาจารย์สอน ตอนนี้เรียนจบพอทุกคนลงแปลงที่วังน้ำเขียวก็ยังรวมกลุ่มกันทำสลัดผัก ไปขายที่ตลาดโรงพยาบาลรามาฯ” ‘จินตนา’ กล่าว
กำไรของคนปลูกผักบนพื้นที่เพียง 2 ไร่ - ร่ำรวยเงินไม่เท่าร่ำรวยมีกิน
เวลานี้ ‘จินตนา’ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่พึ่งจบมามาดๆ ย้ายตัวเองและครอบครัวจากจ.สมุทรปราการมาตั้งรกรากในนิคมเศรษฐกิจพอเพียงอ.วังน้ำเขียวบนที่ดิน 2.5 ไร่ที่สปก.จัดสรรให้ (โดยสปก.เปิดโอกาสให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถเลือกทำประโยชน์บนที่ดินของสปก.ได้ทั่วประเทศ) เช่นเดียวกับ ‘ชัยชนะ’ เกษตรกรรุ่นใหม่รุ่นแรกที่อยู่ที่นี่มากว่า 3 ปี และจะใช้พื้นที่เพียง 2.5 ไร่นี้ทำกินอย่างพอเพียงแต่มีผลกำไรไปตลอดชีวิต
‘เกษตรแบบผสมผสาน’ ตามปรัชญาพระเจ้าอยู่หัวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ ‘ชัยชนะ’กล่าวว่านั่นคือหัวใจที่ทำให้การทำเกษตรบนพื้นที่เพียง 2 ไร่ได้ผลและได้กำไรดี “ ในพื้นที่ 2 ไร่กว่า แบ่ง 1 ไร่เป็นเขตที่อยู่อาศัย ปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ผล เลี้ยงสัตว์ ปลา ไก่ ไว้กินเอง ส่วนอีก 1 ไร่แบ่งไว้ปลูกผักขาย ถึงจะปลูกผักแค่ 1 ไร่ แต่ถ้าไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้นทุนก็ต่ำ รายได้เฉลี่ยเลยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท
นอกจากนี้ผักที่เหลือจากการขาย ที่ใบไม่สวย ก็ยังเอาไปให้ไก่ให้ปลากินได้ เราก็กินเองด้วย เกิดวงจรการหมุนเวียน ทำให้เรามีอาหารกินโดยไม่ต้องไปซื้อหา ผมว่าการอยู่อย่างพอกินพึ่งตัวเองได้มันเกินกว่าความสุข และมากมายกว่าการตีค่าเป็นตัวเงินเดือน”
เมื่อถามว่าเหตุใดเกษตรกรส่วนใหญ่ แม้มีที่ทำกินหลายสิบไร่แต่ก็ยังมีปัญหาหนี้สิน ‘ชัยชนะ’ มองว่าเป็นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดการวิเคราะห์วางแผน “บางคนมีพื้นที่ 50 ไร่ ใครปลูกอะไรใกล้ๆก็ทำตามเขาหมด เช่น ปลูกแต่ข้าวโพดตามเขา โดยไม่ได้วางแผน พอปลูกตามๆกัน หวังพึ่งพืชชนิดเดียวที่ต้องอาศัยภูมิอากาศเป็นตัวกำหนด บางทีผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำ หรือ ถ้าฝนแล้ง ราคาตกมาหน่อย เขาก็เจ๊ง
การมีพื้นที่เกษตรไม่มาก สำหรับเขา คือ การบังคับให้ต้องรู้จักคิดวางแผนการเพาะปลูกและบริหารจัดการทุกอย่างในแปลงไปในตัวมากยิ่งขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ นอกจากนี้เขายังอาศัยการรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ในพื้นที่ ปลูกผักขายสู่ตลาดในลักษณะของการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรวังน้ำเขียวไม่ยากจน “ เราไม่ได้มองเฉพาะสองไร่ครึ่งของตัวเอง แต่เรามองภาพใหญ่ในพื้นที่ เพราะทุกคนช่วยกันทำ 2 ไร่ครึ่งของตัวเองให้ดีที่สุด พอรวมกันหลายคนก็หลายร้อยไร่ ดังนั้นก็เหมือนว่าเราทำเกษตรแปลงใหญ่ที่สามารถต่อรองกับตลาดได้เช่นกัน”
เช่นเดียวกับ ‘จินตนา’ เธอและเพื่อนร่วมรุ่น ‘ทำเกษตรแบบหมู่คณะ’ พื้นที่ 2 ไร่ครึ่งของเธอคือส่วนหนึ่งของพื้นที่กว่า 30 ไร่ที่ร่วมกับเพื่อนปลูกผักสลัดออแกนิกขาย “ในแต่ละครอป(รอบการผลิต) เพื่อน ๆ รวมกัน 12 คน จะแบ่งกันปลูกผักสลัดคนละ1-2ชนิดในแปลงของตัวเอง รวมแล้วให้ได้ 7 ชนิดที่ไว้ขายรวมเป็นสลัดผัก ทำให้กลุ่มเรามีผักสลัดทุกชนิดขายได้ทุกฤดูกาลในช่วงเดียวกัน การรวมกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าต่างคนต่างทำ พื้นที่แค่ 2 ไร่ก็อาจไม่พอขายได้ อย่างบางทีเรา 2 คนมาขายสลัดที่กรุงเทพฯ ก็มีเพื่อนที่เหลืออีก 10 คนคอยดูแลสวนผักและส่งผลผลิตมาให้ขาย”
เปิดผลสำเร็จโครงการฯ เปลี่ยนความคิดคนยุคใหม่พึ่งตนผลิตอาหารรับวิกฤต
‘หลักสูตรการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ สำหรับบุคคลทั่วไป โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกร’ เป็นโครงการในความร่วมมือของ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างครบวงจร ซึ่งสอดรับกับนโยบายการสร้าง ‘เกษตรกรปราดเปรื่อง’ หรือ สมาร์ทฟาร์เมอร์ ของกระทรวงเกษตรฯเวลานี้
ข้อมูลของสอศ.ระบุว่า ผู้เข้าร่วมการอบรมรุ่นที่ 1 – 6 ตั้งแต่ปี 2552 – 2555 ในวิทยาลัยเกษตรฯทั้ง 16 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 891 ราย โดยมีผู้ผ่านการอบรมที่เข้าสู่ภาคเกษตรและทำประโยชน์ที่พื้นที่ของสปก. จำนวน 633 คน คิดเป็นร้อยละ 71.04
ตัวเลขเหล่านี้แม้จะช่วยยืนยันความสำเร็จของรัฐบาลในการผลิตสร้างแรงงานภาคเกษตรรุ่นใหม่ให้รักในอาชีพสำคัญของชาติมากขึ้น แต่หากดูโดยภาพรวมการส่งเสริมประชาชนให้ผันเข้าสู่ภาคเกษตรได้เพียงหลักร้อย อาจไม่ทันและสวนทางต่อการเร่งผลักดันนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร หรือ ครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาลที่ต้องอาศัยแรงงานภาคเกษตรเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดีหากไม่คิดถึงการเร่งผลักดันนโยบายของรัฐบาล และมองเพียงประโยชน์ที่เกษตรกรยุคใหม่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ ก็นับว่าโครงการฯประสบความสำเร็จล้นหลามที่สามารถเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตหลายคนให้หันมาพึ่งพาตนจากสิ่งที่ธรรมชาติให้มาได้ ดังที่‘ชัยชนะ’ กล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้ผมมองอาชีพเกษตรกรเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มันกลายเป็นอาชีพที่ดีและมั่นคงที่สุดในโลก ถ้าเราสามารถผลิตอาหารกินเองได้ เราก็อยู่รอดได้ ที่อื่นจะเกิดวิกฤตอะไรเราก็ไม่เดือดร้อน ต่างจากบางคนที่มีแต่เงิน เมื่อเกิดวิกฤตอะไร สุดท้ายเงินก็กินไม่ได้อยู่ดี”
เพียงไม่กี่เดือนของคอร์สการอบรมในวิทยาลัยเกษตรฯทำให้ 2 มนุษย์เงินเดือนอย่าง ‘ชัยชนะ’ และ ‘จินตนา’ แม้ต้องพลิกชีวิตสู่ดินแต่มีความสุข ภูมิใจและรักในอาชีพเกษตรกรมากขึ้น ...วันนี้หากใครสนใจวิถีเกษตร แม้ไม่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ แต่เพียงใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งอาจนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า...ติดต่อได้ที่สปก.จังหวัดทั่วประเทศ
ข้อมูลจาก isranews.org