ชะลอมจักสาน ฝีมือชาวบ้านหัวทุ่ง เสริมรายได้ - มุ่งใช้สอยในครัวเรือน
อานิสงส์จากการเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลในโครงการประเมินศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันและการเผาในที่โล่ง ชุมชน..
data-ad-format="autorelaxed">
'ชะลอมจักสาน' ฝีมือชาวบ้านหัวทุ่ง เสริมรายได้ - มุ่งใช้สอยในครัวเรือน อานิสงส์จากการเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลในโครงการประเมินศักยภาพชุมชนในการจัดการมลพิษหมอกควันและการเผาในที่โล่ง "ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผาปี 2555" ของจ.เชียงใหม่ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชน "บ้านหัวทุ่ง" ในต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้วันนี้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนที่นี่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัยดี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเสริมอย่างเช่นการทำชะลอมจักสานจากไผ่
"การทำชะลอมจักสานจากไม้ไผ่ เป็นอาชีพเสริมรายได้ของชาวบ้านที่นี่ โดยใช้เวลาว่างจากการทำไร่ ทำสวน หรือช่วงกลางคืนก็มารวมกลุ่มทำจักสานกัน ก็จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง บางคนก็ทำทั้งวัน วันละประมาณ 20-30 ลูก ส่งขายลูกละ 7 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้านทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ลองคิดดูซิแต่ละเดือนแต่ละคนก็มีรายได้ไม่น้อยทีเดียว"
สุขเกษม สิงห์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 แห่งบ้านหัวทุ่ง ต.เชียงดาว มองอาชีพเสริมรายได้จากงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านอย่างชะลอมจักสานจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่ชาวบ้านหัวทุ่งได้ทำกันมาหลายชั่วอายุคน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่มีอาชีพหลักคือการทำไร่ ทำสวน และปลูกพืชผักต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ทว่ากลับไม่มีภาชนะใส่ผลผลิตจากไร่เพื่อนำไปจำหน่ายในท้องตลาด
"อาชีพหลักของชาวบ้านหัวทุ่ง คือการทำไร่ข้าวโพด ทำสวนลำไย ปลูกกาแฟและพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อเป็นรายได้หลัก โดยมีตลาดหลักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือภาชนะใส่ผลผลิตที่เก็บจากไร่เพื่อนำไปส่งขายในตัวเมืองเชียงใหม่นั้นต้องซื้อชะลอมไม้ไผ่กลับมาด้วย ตอนนั้นอันละ 1 บาทแต่ความแข็งแรงคงทนไม่มี ต่อมาชาวบ้านก็เห็นว่าเราน่าจะทำเองได้ วัตถุดิบไม้ไผ่บ้านเราก็มีพร้อม"
ผู้นำชุมชนคนเดิมย้อนที่มาของชะลอมจักสานจากไผ่ ก่อนจะมารวมกลุ่มกันทำเพื่อใช้กันเองในครัวเรือน และหากมีคนสนใจก็ผลิตจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนกันมากโดยเฉพาะแม่บ้านมักจะใช้เวลาว่างรวมกลุ่มทำกัน แต่หากช่วงใดที่มีออเดอร์สั่งเข้ามามากก็จะแจกจ่ายให้ไปทำเองที่บ้านเสร็จแล้วก็นำมาส่งยังที่ทำการกลุ่ม จากนั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง
ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ทำจักสานนั้น สุขเกษมบอกว่าเป็นต้นไผ่ที่คนในชุมชนช่วยกันปลูกบนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 32 สำนักพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา(นทพ.) ได้อนุเคราะห์พื้นที่ดังกล่าวให้ปลูกไผ่เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ส่วนการตัดไผ่นั้นจะมีคณะกรรมการชุมชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะตัดในช่วงใด เวลาใดถึงจะเหมาะสม โดยตัดปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้นจากนั้นก็นำการเก็บไว้เพื่อนำมาทำจักสานต่อไป
"ป่าไผ่เป็นของชุมชนก็จริง แต่ใช่ว่าใครจะเข้ามาตัดได้ จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุมชนเท่านั้น ปีหนึ่งเราจะตัดแค่ 2-3 ครั้ง ครั้งละหลายตันแล้วนำมากองเรียงกัน ใครอยากได้เอาไปทำชะลอมจักสานก็เอาไป โดยไม่ต้องซื้อ เมื่อเราไม่ซื้อวัตถุดิบ ชะลอมเราจึงขายถูกได้อันละ 7 บาทเท่านั้นเอง ใส่พืชผักได้หลายกิโล ส่วนหน่อไผ่เราห้ามตัดเด็ดขาดเพื่อปล่อยให้มันเติบโตต่อไป" สุขเกษมกล่าวทิ้งท้าย
ชะลอมจักสานจากไผ่ ฝีมือของชาวบ้านหัวทุ่ง นับเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ด้วยผลอานิสงส์จากการหยุดเผาป่า อันนำมาซึ่งอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี สนใจผลิตภัณฑ์โทร.08-7995-8104
--------------------
ขั้นตอนการทำชะลอมจักสานจากไผ่
ทองหล่อ บุญป้อ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงดาวและกรรมการชุมชนบ้านหัวทุ่ง ซึ่งรับผิดชอบดูแลกลุ่มการทำชะลอมจักสานจากไผ่อธิบายขั้นตอนการทำ โดยนำวัสดุที่ใช้ ประกอบด้วยไม้ตอกไม้ไผ่กว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร จำนวน 15 เส้น ไม้ตอกขนาดเส้นเล็กกว้าง 0.2 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร 1 เส้น สีย้อมผ้าที่ต้องการ จากนั้นนำไม้ที่จะเอามาสานไปย้อมสี ให้เป็นสีต่างๆ ตามที่ต้องการ อาจจะเป็นสีเขียว เหลือง แดง หรือว่าสีอะไรก็แล้วแต่ที่ชอบ แล้วนำไม้ที่ย้อมสีเสร็จ มาสานโดยใช้ไม้ตอก 2 เส้น วางไขว้เป็นตัว X นำไม้ตอกอีก 2 เส้นสานขัดด้านบนและด้านล่าง นำไม้ตอกสานขัด 3 ทิศทางให้ได้ด้านละ 4 เส้น รวมเป็นไม้ตอกทั้งหมด 12 เส้น
จะเห็นว่าไม้ตอกทุกเส้น จะขัดกันธรรมดา ยก 1 ข้าม 1 จะได้รูปหกเหลี่ยมเป็นจุดศูนย์กลาง 1 รูปและมีรูปหกเหลี่ยมล้อมรอบ จำนวน 6 รูป การขึ้นเป็นตัวชะลอม ให้เลือกจับมุมใดมุมหนึ่งแล้วนำไม้ตอกสานขวางจนรอบเป็นวงกลม ปลายไม้ตอกที่รอบให้ทับซ้อนกับจุดเริ่มต้นวนจนหมดความยาวของไม้ตอก แล้วใช้ไม้ตอกสานลักษณะเดียวกันอีก 2 เส้นโดยรอบ จะได้ชะลอมขนาดย่อม นำไม้ตอกเส้นเล็กสานขัดรอบบนสุดกันหลุด เท่านี้ก็เสร็จสมบูรณ์
อ้างอิง:www.komchadluek.net
อ่านเรื่องนี้แล้ว : 21036 คน
£
ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:
เลือกหมวด :
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด,
สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,