ตัดไผ่ข้าวหลาม-รายได้เป็นหมื่น
ใช้เวลายามว่างจากทำนา-ทำไร่ ตัดไผ่ข้าวหลามฯ รายได้เป็นหมื่น ทุกวันหลังจากว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ หากใครผ่านไปหมู่บ้าน...
data-ad-format="autorelaxed">
ตัดไผ่ข้าวหลาม-รายได้เป็นหมื่น ใช้เวลายามว่างจากทำนา-ทำไร่ ตัดไผ่ข้าวหลามฯ รายได้เป็นหมื่น ทุกวันหลังจากว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ หากใครผ่านไปหมู่บ้านสีแดงในอดีต "บ้านเลิง" หมู่ 2 ต.ห้วยบ่อซืน อ.ปากชม จ.เลย จะเห็น "ขันตี สุโขยะชัย" วัย 43 ปี และเพื่อนอีก 5 คน ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า มุ่งหน้าสู่ป่า และตามไร่นา โดยมุ่งไปตัดไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดง แล้วนำมามัดมารวมกองไว้ริมถนน เพื่อเตรียมส่งตลาด แม้จะเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย แต่ทำรายได้ให้พวกเขาถึงเดือนเป็นหมื่นบาท สามารถนำรายได้เสริมนี้เลี้ยงครอบครัวเป็นอย่างดี
ขันตี บอกว่า ปกติทำนาทำไร่เหมือนชาวบ้านทั่วไป แต่หลังจากทำนาทำไร่แล้วจะมีเวลาว่าง จึงคิดว่าในป่ายังมีไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดงที่ขึ้นตามธรรมชาติ ที่ราบเชิงเขา ภูเขา ป่า หัวไร่ปลายนา มีลักษณะเนื้อเยื่อเหนียวจะไม่ติดมือ เนื่องจากเปลือกของไผ่บาง ลำเล็กสวยงาม ปลอกง่าย และมีกลิ่นหอมด้วย ซึ่งไม้ไผ่ชนิดนี้สามารถนำไปทำเป็นบั้งข้าวหลาม จึงลองไปตัดมาขาย จากนั้นนำมามัด มัดละ 25 บั้ง ส่งขายในราคามัดละ 50 บาท ตามออเดอร์ของพ่อค้าสั่งมา โดยมีตลาดที่สำคัญในภาคอีสาน อาทิ ขอนแก่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพื่อนำไปทำเป็นบั้งข้าวหลาม
ตอนแรก ขันตี บอกว่า เคยเข้าไปตัดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ทำอย่างไรได้ในต่อเมื่อธรรมชาติของคนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประทังชีวิตและครอบครัวให้อยู่รอดไปวันๆ อย่างบ้านเลิงเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกล จึงไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนส่งเสริมด้านอาชีพ ชาวบ้านช่วยตนเองในการทำมาหากิน พอตัดไปก็เลยถูกจับ 2 ครั้ง จึงเลิกตัดในป่าสงวน แต่ข้อดีของไผ่ชนิดนี้คือ เมื่อตัดแล้วจะมีหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน สามารถตัดในต้นเดิมได้อีก หมุนเวียนไปมา จึงไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ที่จริงพื้นที่อื่นๆ ก็มีไผ่ชนิดนี้ แต่ชาวบ้านไม่สนใจ เพราะเขามีอาชีพอื่นที่ดีกว่า
"ที่บ้านเลิง อดีตเป็นพื้นที่สีแดง แม้ชาวบ้านกว่า 180 ครัวเรือน ที่เคยปักหลักในพื้นที่ทำกินตรงนี้มาหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ที่ทำกินยังไม่มีเอกสารสิทธิทำกินใดๆ เว้นแต่เอกสาร ทบ.5 เท่านั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ บางคนปลูกมันสำปะหลัง บางคนหันมาปลูกยางพารา และข้าวโพดบ้าง ส่วนผมมีที่ไม่มากนัก พอมีเวลาว่างก็ไปตัดไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดงขาย ใช้เวลาประมาณ 5 วัน จะได้ไม้ไผ่ข้าวหลามกาบแดง 5,000 บั้ง หรือเดือนละ 4-5 ครั้ง ทำให้ผมรายได้อย่างน้อยเดือนละ 5,000-10,000 บาท" ขันตี กล่าว
ด้าน อารีพร จักรโนวัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยพิชัย อ.ปากชม บอกว่า การประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่านั้น ในพื้นที่รับผิดชอบนั้น ได้ห้ามไว้ว่า อย่าบุกรุกแผ้วถางป่าผืนใหม่และห้ามเข้าไปตัดไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกลุ่มอาชีพ จากนั้นได้จัดวิทยากรมาสอนมาฝึกให้มีฝีมือมีความรู้และประสบการณ์แก่เกษตรกรและชาวบ้าน ประกอบอาชีพ อาชีพเสริม ทั้งอุตสาหกรรมในครัวเรือน จักสาน ตะกร้า กระเช้า กระด้ง หวดนึ่งข้าว อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน เพื่อนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ แต่จะใช้ไม้ที่แก่และเสื่อมโทรม นอกจากนั้นมีการส่งเสริมการปลูกป่า สร้างผืนป่าและฟื้นฟูสภาพป่าอีกด้วย
อ้างอิง:www.komchadluek.net
อ่านเรื่องนี้แล้ว : 13150 คน
£
ความคิดเห็นจากผู้อ่าน:
เลือกหมวด :
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด,
สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,