data-ad-format="autorelaxed">
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Channa striata Bloch, ค.ศ. 1793
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Actinopterygii
อันดับ Perciformes
วงศ์ Channidae
สกุล Channa
สปีชีส์ striata
ปลาช่อน ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striata อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ครีบหางเรียวปลายมน ปากกว้าง ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว 6 - 7 เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30 - 40 ซ.ม. ใหญ่สุดได้ถึง 1 เมตร โดยปลาช่อนสปีชีส์นี้มีความพิเศษไปกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ คือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนมาได้เป็นแรมเดือน โดยสะสมพลังงานและไขมันไว้ ที่เรียกว่า "ปลาช่อนจำศีล" พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย พบไปจนถึงเอเชียใต้ พม่าและอินโดนีเซีย นิยมนำมาบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งสดและตากแห้ง เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง[1] เลี้ยงได้ทั้งในบ่อและกระชังตามริมแม่น้ำ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก (Albino) หรือปลาที่พิการตัวสั้นกว่าปกติ (Short Body)
ปลาช่อนในบางพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดสิงห์บุรี ขึ้นชื่อมาก ที่เรียกว่า "ปลาช่อนแม่ลา" มีประเพณีพื้นถิ่นคือเทศกาลกินปลา
ปลาช่อน มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นในแต่ละภาคว่า "หลิม" ในภาษาเหนือ "ค้อ" หรือ "ก๊วน" ในภาษาอีสาน เป็นต้น
การเพาะเลี้ยงปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ มีชื่อสามัญ STRIPED ANAKE-HEAD FISH และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striatus ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี ก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขิน ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นปลาโตขนาดตลาดต้องการต่อไป
อุปนิสัย
โดยธรรมชาติปลาช่อนเป็นปลาประเภทกินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งปลาขนาดเล็กและแมลงในน้ำชนิดต่างๆ เป็นอาหารเมื่ออาหารขาดแคลน ปลาจะมีพฤติกรรมกินกันเองโดยปลาช่อนตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก
รูปร่างลักษณะ
ปลาช่อนเป็นปลาที่มีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลม ยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่ ปากกว้างมาก มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางกลม ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงสามารถเคลื่อนไหวไปบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ
การผสมพันธุ์วางไข่
ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม – ตุลาคม ช่วงที่มีความพร้อมที่สุดคือเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
ในฤดูวางไข่ จะสังเกตความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมียอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาเพศเมีย ลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่ มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวมีสีเข้มใต้คางจะมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าปลาเพศเมีย
ตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งความลึกของน้ำประมาณ 30 –100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพรรณไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลาเพื่อที่จะทำให้พื้นที่เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 –40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางของรัง ส่วนพื้นดินใต้น้ำ ปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ หลังจากที่ปลาช่อนได้ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากินจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลลูกปลาวัยอ่อน เมื่อลูกปลามีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จึงแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ลูกครอก หรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอก ประมาณ 2,000 ตัว ลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลาอีกต่อหนึ่งในราคากิโลกรัมละ 70 – 100 บาท ซึ่งรวบรวมได้มากในระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่มีรูปร่าง ลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ 800 – 1,000 กรัมขึ้นไป และอายุ 1 ปีขึ้นไป
ลักษณะแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปลาช่อนที่ดีซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือสีชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไป เป็นปลาขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม
การเพาะพันธุ์ปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมบริโภค ทำให้ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สำหรับเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรคและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ ลูกปลาช่อนที่เกษตรกรรวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนดังนั้นการเพาะพันธุ์ปลาจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตพันธุ์ปลาช่อน
ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาช่อนที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะมีอายุ 1ปีขึ้นไป ขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0 – 1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำเชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5 – 1.0 ไร่ พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1:1 ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณ 2.5 – 3.0 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา
2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์
สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาช่อนด้วยวิธีผสมเทียมโดยใช่ฮอร์โมน สังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อหรือปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH – a โดยใช้ร่วมกับโดมเพอริโดน (Domperidone) การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์สามารถฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่นั้น ด้วยการฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับโดมเพอริโดน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับโดมเพอริโดน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8–10 ชั่วโมง สามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสม เทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้ง เพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตัน ภายในถังเพิ่มออกชิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆ ในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน
การฟักไข่
ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30 –35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด - ด่าง 7.8 ความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน
การอนุบาลลูกปลาช่อน
ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใสปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2 – 3 วันจึงพลิกตัวกลับลง และว่ายไปมาตราปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ
ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัว เมื่อถุงไข่แดงยุบ วันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดบด โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และพฤติกรรมการกินกันเอง ทำให้ตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำ
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลา
การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป ดังนี้
1. ตากบ่อให้แห้ง
2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน ในอัตราประมาณ 60 – 100 กิโลกรัม / ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา ในอัตราประมาณ 40 – 80 กิโลกรัม/ไร่
4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก 30–40 เซนติเมตร ระยะไว้ 1 – 2 วันจึงปล่อยลูกปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินหลังจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว
5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในภาชนะลำเลียงและบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า
ขั้นตอนการเลี้ยง
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด
1. อัตราการปล่อยปลา ลูกปลาขนาด 8 – 10 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 30 – 35 ตัว / กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร / น้ำ 100 ตัน) ในวันแรกที่จะปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น
2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4 : 1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ด 40 เปอร์เซ็นต์ รำ 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบนลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2 – 3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด
3. การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30 – 40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำ สัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร จนได้ระดับ 50 เซนติเมตร จึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด มิฉะนั้นปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็ก
4. ผลผลิต หลังจากอนุบาลปลาในช่วง 2 เดือนแล้ว ต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4 – 5 เดือน จะให้ผลผลิต 1 – 2 ตัว/กิโลกรัม เช่นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน จะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม
5. การจับ เมื่อปลาโตได้ขนาดตลาดต้องการจึงจับจำหน่าย ก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1 – 2 วัน
6. การป้องกันโรค โรคของปลาช่อนที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหา คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดการให้อาหารทันที
ผลผลิต
ช่วงเวลาในการเลี้ยงปลาช่อนประมาณ 8 – 9 เดือน สำหรับปลาลูกครอก ส่วนปลาช่อนที่เริ่มเลี้ยงจากขนาดปลารุ่น 20 ตัว / กิโลกรัม ถึงขนาดตลาดต้องการ ใช้เวลาเลี้ยงอีก 5 เดือน น้ำหนักจะอยู่ระหว่าง 0.6 – 1.0 กิโลกรัม โดยทั่วไปน้ำหนักปลาที่ตลาดต้องการขนาด 0.5 – 0.7 กิโลกรัม สำหรับอัตราแลกเนื้อประมาณ 5 – 6 : 1 กิโลกรัม ผลผลิต 12 ตัน/ไร่
สำหรับปลาผอมและเติบโตช้า เกษตรกรเลี้ยงปลาช่อนเรียกว่า ปลาดาบ นอกจากนี้น้ำที่ระบายออกจากบ่อปลาช่อน ควรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลาบึก ปลานิล ฯลฯ
การลำเลียง
ใช้ลังไม้รูปสี่เหลียมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตร ยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร จุปลาได้ 50 กิโลกรัม สามารถขนส่งโดยรถยนต์บรรจุไปทั่วประเทศ จังหวัดสุพรรณบุรีจัดว่าเป็น แหล่งเลี้ยงและส่งจำหน่ายปลาช่อนอับดับหนึ่งของประเทศโดยส่งไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ สำหรับภาควันออกเฉียงเหนือต้องการปลาน้ำหนัก 300 – 400 กรัม และ 700 – 800 กรัม ส่วนภาคเหนือต้องการปลาน้ำหนักมากกว่า 300 – 400 กรัม และ มากกว่า 500 กรัมขึ้นไป
โรคปลาและการป้องกัน
โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ แอโรโมนาส โฮโดรฟิลา เฟลคซิแบคเตอร์ คอลัมนาริส และไมโครแบคทีเรียม อาการของโรคโดยทั่วไปที่พบ ได้แก่ ผิวหนังบริเวณเกล็ดเกิดแผลที่มีลักษณะช้ำเป็นจุดแดงๆ สีลำตัวซีดหรือด่างขาว เมือกมากผิดปรกติ เกล็ดหลุด แผลเน่าเปื่อย ว่ายน้ำผิดปรกติ เสียการทรงตัวหรือตะแคงข้าง เอาตัวซุกขอบบ่อ ครีบเปื่อยแหว่งตาฟางหรือตาขุ่นขาว ตาบอด ปลาจะกินอาหารน้อยลง
2. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก อาทิ เห็บระฆัง ปลิงใส ฯลฯ พยาธิเห็บระฆังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นแผลขนาดเล็กตามผิวตัวและเหงือก การรักษาใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ลิตร ต่อน้ำ1,000 ลิตรแช่ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือ 25-50 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง
3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหาร ลดลง การรักษาใช้ยาถ่ายพยาธิ แต่ทางที่ดีควรใช้วิธีป้องกัน
วิธีป้องกันโรค
ในฟาร์มที่มีการจัดการที่ดีจะไม่ค่อยประสบปัญหาปลาเป็นโรคแต่ในฟาร์มที่มีการจัดการไม่ดี ปัญหาปลาเป็นโรคตายมักจะเกิดขึ้นเสมอบางครั้งปลาอาจตายในระหว่างการเลี้ยงสูงถึง 60 –70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับปลาเป็ดที่นำมาใช้เลี้ยงในปัจจุบันคุณภาพมักจะไม่สดเท่าที่ควรและหากมีเศษอาหารเหลือตกค้างในบ่อจะทำให้บ่อเกิดการเน่าเสียเป็นเหตุให้ปลาตาย ดังนั้นจึงควรมีวิธีป้องกันดังนี้คือ
1. ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยก่อนปล่อยลูกปลา
2. ซื้อพันธุ์ปลาที่มีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรค
3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นอาการผิดปรกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว
4. หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3 – 4 วัน ควรราดน้ำยาฟอร์มาลิน 2 – 3 ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน และหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 – 5 ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน (การใช้น้ำยาฟอร์มาลินควรระวังเรื่องปริมาณออกซิเจนในน้ำ ถ้าต่ำมากควรมีการให้อากาศด้วย)
5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับพื้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ
6. อย่าให้อาหารมากเกินความต้องการของปลา
ต้นทุนการผลิต
1. ต้นทุนผันแปร
- ค่าพันธุ์ปลาที่อัตราการปล่อย 2,000 กิโลกรัม/ไร่ ราคากิโลกรัมละ 45 บาท เป็นเงิน 90,000 บาท
- ค่าอาหารที่อัตราผลผลิตเฉลี่ย 7 ตัน/ ไร่ และอัตราแลกเนื้อ(5:1) ราคาอาหารกิโลกรัมละ 6 – 7 บาท เป็นเงิน 210,000 – 250,000 บาท/ ไร่
- ค่าปูนขาว อัตรา 100 กิโลกรัม / ไร่ เป็นเงิน 120 บาท / ไร่
- ค่ายาและสารเคมี 1,000 บาท / ไร่
- ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 – 1,200 บาท / ไร่
2. ต้นทุนคงที่
- ค่าขุดบ่อ 5,000 บาท / ไร่
- ค่าก่อคอนกรีตผนังบ่อ 40,000 บาท / ไร่
แนวโน้มด้านการตลาด
ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดีอีกทั้งยัง สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ จึงมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทำให้แนวโน้มด้านการตลาดดี สามารถส่งผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้
ปัญหาอุปสรรค
1. เนื่องจากปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อและกินจุ จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วงการเลี้ยง
2. ต้นทุนอาหารการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่หากใช้ปลาทะเลเป็นหลักซึ่งมีราคาสูงขึ้นก็จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตปลาช่อนสูงขึ้นตามไปด้วย
อ้างอิง : http://animal-of-the-world.blogspot.com