data-ad-format="autorelaxed">
ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมสูงขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน...นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากสินค้าหลายรายการมีราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสด ผลไม้ น้ำมันขายปลีก บุหรี่-สุรา
แต่สินค้าปศุสัตว์ หมู ไก่ และไข่ไก่ กลับมีราคาถูกลง อ้างเหตุผลความต้องการลดลงในช่วงปิดเทอมและเทศกาลกินเจ
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม ชี้แจงตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาราคาหมูตกต่ำ เพราะราคาหน้าฟาร์มลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ปัจจุบันราคาซื้อขายอยู่ที่ กก.ละ 44-45 บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 55 บาท
เนื่องมาจากหลายปัจจัยกำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอย มีฝนตกน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกษตรกรต้องเร่งระบายหมูออกสู่ตลาด เพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันเป็นช่วงเทศกาล กินเจทำให้การบริโภค เนื้อหมูต่ำลงอย่างชัดเจน เมื่อผลผลิตไม่สมดุลกับการบริโภค จึงเกิดภาวะ หมูล้นตลาด ราคาร่วง
ตอนนี้ราคาต่ำจนไม่คุ้มทุน เกษตรกรต้องขายขาดทุน ผูกหางหมูตัวละ 1,000 บาท เพื่อประคับประคองอาชีพ ไม่อยากให้กระทบต่อผู้บริโภค แต่ตอนนี้เป็นห่วงว่า ถ้าเกษตรกรไม่สามารถสู้ต่อได้ แล้วพากันเลิกเลี้ยง ย่อมส่งผลต่อผู้บริโภค...ยิ่งปัจจุบันเกษตรกรวิตกกรณีสหรัฐฯกดดันให้ไทยนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ และภาครัฐมีแนวโน้มจะน้อมสนองการนำเข้าหมูใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯด้วย เรื่องนี้มีผลทางจิตวิทยา ทำให้เกษตรกรเริ่มทยอยเลิกเลี้ยงเพื่อหนีปัญหา โดยเฉพาะรายย่อยและรายกลางที่ไม่สามารถแข่งขันด้านตลาดได้ จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทุกคนยังคงยืนยันจะคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพื่อรักษาอาชีพและปกป้องสุขภาพคนไทยจากอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง
ที่สำคัญหน่วยราชการมีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าให้ผู้บริโภค วันนี้ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลง...ผู้บริโภคควรต้องได้รับประโยชน์โดยตรง
จะมีใครเข้มงวดกับผู้ค้าเขียงที่ไม่ปรับลดราคาลงตามหน้าฟาร์ม...ละเว้นปฏิบัติหน้าที่มั้ย.
source: thairath.co.th/content/1123899
image from: jewishbusinessnews.com