data-ad-format="autorelaxed">
คุณภาพน้ำนมทั่วไปของบ้านเรา...โปรตีนไม่ต่ำกว่า 3%...ไขมันไม่น้อยกว่า 3.35%...เนื้อนมรวมต้องได้ 12.25% ขึ้นไป...เม็ดเลือดขาว ตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำนมไม่เกิน 550,000 เซลล์/มล.
นมคุณภาพสูงล้านนาเหนือกว่า...โปรตีนไม่ต่ำกว่า 3%...ไขมันไม่น้อยกว่า 3.65%...เนื้อนมรวมต้องได้ 12.35% ขึ้นไป...เม็ดเลือดขาวไม่เกิน 200,000 เซลล์/มล.
เป็นคุณสมบัติสำคัญทำให้นมล้านนาคุณภาพสูง เป็นนมดีที่สุดของประเทศไทย
สำนักงานปศุสัตว์ เขต 5 ทำอย่างไรปรับเปลี่ยนตรงไหน ถึงได้นมคุณภาพสูงในระดับที่ ศ.ดร.แอนเดรียส ซินส์ ชาวออสเตรีย เจ้าของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์จากนมสด “แดรี่ บูติค”...ยอมรับ คุณภาพไม่แพ้นมในยุโรป
“การเลี้ยงวัวนมในภาคเหนือได้คุณภาพต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ทั้งที่ทุกอย่างเอื้ออำนวย สาเหตุมาจากการเลี้ยงไม่เข้าใจในธรรมชาติของสัตว์เคี้ยวเอื้อง 4 กระเพาะ ต้องให้อาหารแบบค่อยๆ กิน วันละหลายมื้อ แต่เกษตรกรกลับให้กินทีละมากๆ แทนที่จะดีกลับตรงข้าม วัวท้องอืด มีกรดในกระเพาะ เบื่ออาหาร ป่วย ให้นมน้อย”
น.สพ.สมบัติ ศุภประภากร ผอ.ส่วนมาตรฐานการปศุสัตว์ สนง.ปศุสัตว์เขต 5 เผยเคล็ดลับในการทำนมคุณภาพสูง...ปรับเปลี่ยนวิธีให้อาหาร จากให้วันละ 2 มื้อ เพิ่มเป็นวันละ 4-6 มื้อให้กินอาหารหยาบวันละ 30 กก.ต่อตัว ในแต่ละมื้อต้องมีอาหารหยาบสด 40% อาหารหยาบแห้ง 60% เพราะอาหารหยาบแห้งมีส่วนสร้างเนื้อนมรวมได้มาก และเพิ่มลดปริมาณอาหารไปตามสัดส่วนการให้นม...ตัวไหนให้นมเยอะให้เพิ่ม ให้นมน้อยให้น้อย
ส่วนอาหารข้นให้วันละ 4–6 กก.ต่อตัว ในมื้อก่อนรีดนม...ให้มากไปเกิดกรดในกระเพาะ
เพื่อให้วัวกินอยู่สบาย...ยกหลังคาโรงเรือนให้สูงขึ้น จาก 2.50 ม. เป็น 3 ม. อากาศถ่ายเทได้สะดวก อากาศไม่ร้อน วัวอารมณ์ดี และช่วยกำจัดเชื้อราที่หมักหมมในโรงเรือนได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญ ระบบป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่โรงเรือน คนรถเข้าออกต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ก่อนรีดนมต้องตรวจหาเชื้อเต้านมอักเสบทุกครั้ง มีโปรแกรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดเวลาที่ชัดเจน...วัวตัวไหนป่วยต้องมีโรงเรือนพักแยกออกไปต่างหาก
น้ำใช้ในฟาร์มต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ล้างฆ่าเชื้อในฟาร์มทุกวัน...โดยเฉพาะเครื่องรีดนม ฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งาน
หลังเข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปี 2558 ณฤทัย กันธิมาพงค์ เกษตรกรเลี้ยงโคนม 72 ตัว บ.ทากู่ ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน บอกว่า เดิมเคยใช้อาหารเม็ดเดือนละ 300 กระสอบ ลดมาเหลือ 250 กระสอบ...ผลผลิตน้ำนมที่เคยได้วันละ 11 กก.ต่อตัว เพิ่มเป็น 17 กก.
น้ำนมที่เคยขายได้ กก.ละ 17.10 บาท ตอนนี้เพิ่มเป็น 19.30 บาท “โครงการนมล้านนาคุณภาพสูง” ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแค่เดือนละ 3–4 หมื่นเท่านั้นเอง.
source: thairath.co.th/content/1060675