data-ad-format="autorelaxed">
นายอรรณพ อัครนิธิยานนท์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่าทางสมาคมไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg board)เห็นชอบให้อาศัยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ออกประกาศเพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้านำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) และไก่พ่อแม่พันธุ์ (GS) ให้ปฏิบัติตามโควตานำเข้าอย่างเคร่งครัด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมไข่ไก่ล้นตลาด
“มติดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดในปี 2561 ลดลงเสี่ยงเกิดปัญหาผลิตผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดได้”
ทั้งนี้ ภาวะที่ไข่ล้นตลาดของไทยนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นบางช่วงเวลา หากมีการบริหารจัดการที่ดีปัญหาดังกล่าวก็จะแก้ไขได้โดยที่ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบถึงขั้นได้รับความเสียหาย กรณีราคาไข่ปรับลดลงสุดท้ายไข่ทุกฟองก็สามารถขายได้หมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการบริโภคยังมีอยู่ อีกทั้งมติบอร์ดดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยบริโภคไข่เพิ่มขึ้นเป็น 300 ฟองต่อคนต่อปีด้วย
“ผมไม่เห็นด้วยที่จะแก้ปัญหาที่ต้นทาง เพราะจะส่งผลกระทบต่อปลายทางได้ กรณีที่ไข่ขาดตลาด ถึงขั้นต้องนำเข้าขึ้นมา ภาพพจน์ของไทยไทยที่ต้องการเป็นครัวโลกนั้นจะเสียหายมาก เพราะไข่เป็นสินค้าพื้นฐานที่คนทุกวัย ทุกชาติ ศาสนาสามารถบริโภคได้ แต่หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะใช้กฎหมายเข้ามาดูแล ผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ต้องปฏิบัติตาม คงไม่สามารถท้วงอะไรได้ “ นายอรรณพ กล่าว
สำหรับแผนนำเข้าปูย่า พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ปี 2560 กำหนดให้นำเข้าปู่ย่าไว้ 6,000 ตัว และพ่อแม่ 600,000 ตัว การนำเข้าทั้งสองจะต้องสอดรับกับผลผลิตในประเทศ ส่วนการวางแผนควบคุมการผลิตไข่ไก่ให้เกิดความสมดุลทั้งการบริโภคและส่งออก โดยได้ประมาณการผลผลิตไก่ไข่ ปี 2560 จำนวน 55.64 ล้านตัว ผลผลิตไข่ไก่ จำนวน 16,473 ล้านฟอง และประมาณการตลาดไข่ไก่ส่งออก จำนวน 420 ล้านฟอง และไข่ไก่บริโภคในประเทศ จำนวน 16,053 ล้านฟอง
source: komchadluek.net/news/agricultural/276155