"พลวงชมพู"เป็นปลาน้ำจืดประจำท้องถิ่นจังหวัดยะลา นราธิวาส มีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นภาคใต้ว่า ปลากือเลาะห์ หรือ อีแกกือเลาะห์ เป็นปลาที่มีเนื้อรสชาติดี สามารถรับประทานได้ทั้งเกล็ด ในปัจจุบันตลาดการเลี้ยงปลาสวยงามก็กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง เนื่องจากเป็นปลาที่มีความโดดเด่นในสีของเกล็ดที่มีลักษณะเป็นสีชมพู บริเวณครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง
ลักษณะนิสัยและความเป็นอยู่ของปลาชนิดนี้ จะเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำที่น้ำไหลผ่าน มีน้ำค่อนข้างเย็น มีปริมาณออกซิเจนสูง เช่น น้ำตก หรือบริเวณต้นแม่น้ำสายหลักในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี และป่าฮาลา –บาลา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลาพลวงชมพูได้รับการประกาศให้เป็นปลาประจำจังหวัดยะลาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเวียน และปลาพลวงหิน เป็นปลาที่รู้จักกันในภาคอื่นเรียกว่า “ปลาเวียน” ซึ่งปัจจุบันปลาชนิดนี้ได้ลดจำนวนลงมากจนถึงใกล้สูญพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเพาะพันธุ์และเลี้ยงได้ จึงทำให้มีราคาค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง จึงได้ศึกษาวิจัยปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2515 และได้ดำเนินการศึกษาวิจัยปลาพลวงชมพูมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ทางกรมประมง เตรียมส่งเสริมและผลักดันปลาชนิดนี้ให้เป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาได้ต่อไป
นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เปิดเผยว่า ปลาพลวงชมพูนับเป็นปลาธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เนื่องจากเป็นปลาที่นิยมรับประทานใน ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมรับประทานปลาชนิดนี้กันมาก แต่ติดที่มีกฎหมายห้ามจับปลาชนิดนี้ตามธรรมชาติมารับประทาน รวมถึงในมาเลเซียก็ยังไม่สามารถวิจัยเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้ ประกอบกับปลาชนิดนี้เป็นปลาธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์ กรมประมงได้ตระหนักและเห็นว่าปลาชนิดนี้มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจจึงทำการศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์
จากความสำเร็จของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กรมประมง ที่สามารถทำการวิจัยและเพาะขยายพันธุ์ได้ โดยสามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งบ่อดิน และบ่อซีเมนต์ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้ปลาชนิดนี้เป็นปลาเพื่อการส่งออกและทำตลาดในประเทศและต่างประเทศได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จุดเด่นของปลาชนิดนี้คือ เป็นปลาที่สามารถรับประทานได้ทั้งเกล็ด ให้เนื้อสัมผัสดี รสชาติอร่อย สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกง ต้ม นึ่งซีอิ๋ว และทอด ซึ่งคาดว่าในอนาคตปลาพลวงชมพู จะเป็นปลาเกรดพรีเมี่ยมอีกชนิดที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้อย่างแน่นอน
นายนพดล จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลังจากที่กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูได้แล้ว ล่าสุดนี้ทางศูนย์ฯ ได้นำร่องส่งเสริมการเลี้ยงปลาพลวงชมพูด้วยการแจกพันธุ์ปลาพลวงชมพูให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลาไปทดลองเลี้ยงพร้อมติดตามผลอย่างใกล้ชิด จำนวน 50 ราย ทั้งเลี้ยงเดี่ยว และเลี้ยงร่วมกับปลาจีน เนื่องจากปลาพลวงชมพูเป็นปลาที่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 1–2 ปี ซึ่งมีระยะเวลาเท่ากันกับปลาจีน โดยทั่วไปน้ำหนักปลาพลวงชมพูที่ตลาดต้องการ ประมาณ 1 กิโลกรัมขึ้นไป หรือถ้าขนาดใหญ่ก็จะขายได้ราคาดี
ดังนั้น การเลี้ยงร่วมกันนอกจากจะช่วยส่งเสริมด้านสภาพแวดล้อมแล้วและสร้างรายได้ที่ดีให้เกษตรกรมากขึ้น ในด้านราคาทางตลาดปลาจีนจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 250 บาท แต่ปลาพวงชมพูจะขายกิโลกรัมละ 2,000 บาท และในแถบประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศปลาพลวงชมพูขนาดตัวละ 2–3 กิโลกรัม. ราคาจะพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 6,000 – 7,000 บาท ดังนั้นการเลี้ยงปลาพลวงชมพูถึงแม้จะใช้ระยะเวลานานในการเลี้ยงแต่เมื่อสามารถจับขายได้ก็จะสร้างมูลค่าที่แตกต่างกับปลาจีนอย่างเห็นได้ชัด
ด้านปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาพลวงชมพูส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอัตราการรอด เนื่องจากเป็นปลาที่มีไข่ปริมาณน้อยกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ 500-1,000 ตัว และพ่อ-แม่พันธุ์ที่มีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่ทางกรมประมงจะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติและนำมาขุนเพื่อให้พ่อ-แม่พันธุ์สมบูรณ์เพศแข็งแรงพร้อมผสมพันธุ์ เพนะเป็นปลาในกลุ่มที่โตช้า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรมประมงเพาะขยายพันธุ์จนประสบความสำเร็จ นอกจากนักวิจัยจะดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหาร ความสมบูรณ์พ่อแม่พันธุ์แล้ว ขั้นตอนการเลี้ยงก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกันจะต้องเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหล หรือมีน้ำหมุนเวียนตลอดเวลา เนื่องจากปลาจะมีพฤติกรรมชอบอยู่ตามต้นน้ำ ชอบน้ำไหล และเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนตั้งแต่ 5-8 ppm
ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่กรมประมงเข้าไปส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยงปลาพลวงชมพูในอำเภอเบตง จ.ยะลา จะแนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแบบธรรมชาติด้วยการนำน้ำจากต้นน้ำโดยตรง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติและปล่อยให้ไหลผ่านระบายออกไป การปล่อยลูกปลาจะปล่อย 1-5 ตัว/ตารางเมตร ส่วนการให้อาหารนั้นจะใช้อาหารปลาทั่วไป เช่น อาหารปลาดุก ให้วันละ 2 ครั้งเช้า- เย็น ให้ครั้งละ 2-3% ของน้ำหนักตัวทำเช่นนี้จนสามารถจับขายได้ โดยรวมขั้นตอนการเลี้ยงนั้นไม่ซับซ้อนมากนัก แต่มีปัจจัยหลักที่สำคัญเพียงเรื่องเดียวคือน้ำจะต้องหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ เพื่อที่จะควบคุมปริมาณออกซิเจนไม่สูงหรือต่ำกว่าที่กำหนด มิฉะนั้น อาจส่งผลต่อผลผลิตปลาได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการนำร่องส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงปลาพลวงชมพูแล้วนั้นทางด้านตลาดก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะปลาพลวงชมพู เป็นปลาที่มีความต้องการของตลาด โดยตลาดหลักจะอยู่ที่ประเทศมาเลเซียซึ่งนิยมรับประทานปลาชนิดนี้มาก แต่ไม่สามารถจับได้ตามธรรมชาติเนื่องจากติดข้อกฎหมาย จึงทำให้มาเลเซียเตรียมสั่งนำเข้าปลาพลวงชมพูจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ เกษตรกร ผู้สนใจ สามารถโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมประมง โทรศัพท์และโทรสาร 0 2562 0569 หรือ 0 2562 0600-15 ต่อ 7710, 7711 ในวันเวลาราชการ
source: thaiagrinews.net/news/418488/หนุนเลี้ยง“พลวงชมพู”ปลาเศรษฐกิจใหม่-กิโลกรัม2พัน!.html