data-ad-format="autorelaxed">
เลี้ยงแพะ
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ออกพื้นที่ปฏิบัติงานรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ในโค แพะ แกะ พื้นที่บ้านทุ่งดุก ตำบลเวียง และพื้นที่บ้านแดนเมือง ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ออกพื้นที่ปฏิบัติงานรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ในโค แพะ แกะ พื้นที่บ้านทุ่งดุก ตำบลเวียง และพื้นที่บ้านแดนเมือง ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
โดยมีแพะ จำนวน 152 ตัว แกะ จำนวน 32 ตัว โค จำนวน 6 ตัว เข้ารับการบริการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่มักจะเกิดขึ้นกับสัตว์ในช่วงหน้าฝน
สำหรับแพะนั้นในพื้นที่จังหวัดเชียงรายปัจจุบันได้มีเกษตรกรให้ความสนใจ เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเป็นสัตว์ที่เลี้ยงและดูแลง่าย สามารถกินอาหารได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหญ้า ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย วัชพืชในเรือกสวนไร่นา วัสดุเศษเหลือจากการเกษตร ทำให้มีต้นทุนค่าอาหารต่ำ อีกทั้งเป็นสัตว์ที่ทนทานและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
อีกทั้งมีช่องทางในการจำหน่ายหลากหลายเช่น การเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์ การจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ และการจำหน่ายเนื้อหรือหนัง
ส่วนความตื่นตัวในการหันมาสนใจเลี้ยงแพะมากขึ้นของเกษตรกรปศุสัตว์ พื้นที่จังหวัดเชียงรายนั้นก็เป็นผลมาจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการเลี้ยงและขยายพันธุ์แพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เพื่อเป็นประโยชน์แก่ราษฎร ในพื้นที่
โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมารัฐบาลประเทศบังกลาเทศได้น้อมเกล้าฯ ถวายแพะพันธุ์แบล็คเบงกอลจำนวน 3 ตัว โดยเป็นเพศผู้ 1 ตัว เพศเมีย 2 ตัว และได้ถูกนำมาเลี้ยงในโครงการฯ เพื่อขยายพันธ์ุและส่งเสริมให้มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกร ซึ่งแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล เป็นแพะที่มีขนาดเล็กสูงประมาณ 40-60 ซม. มีขนสั้นดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นเงา ใบหูมีขนาดเล็กตั้งชี้ไปข้างหน้า ขนสั้น ละเอียดนุ่ม โตเต็มวัยจะมีความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 40-46 เซนติเมตร น้ำหนักตัวผู้ 15 กิโลกรัม ตัวเมีย 12 กิโลกรัม ลักษณะไม่เหมือนแพะสายพันธุ์อื่นตรงที่ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีเคราและเขา จุดเด่นของแพะสายพันธุ์นี้ คือมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว ตั้งท้องเพียง 150 วัน เมื่อตกลูกมักจะออกแฝด 2 ถึง 4 ตัว
สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งปี ให้ลูกครั้งแรกเมื่ออายุ 15-16 เดือน มีลูกเฉลี่ยครอกละ 2 ตัว จุดเด่นของแพะแบล็คเบงกอลคือเนื้อมีคุณภาพดี รสชาติดี หนังมีคุณภาพ ราคาแพง จึงเลี้ยงเพื่อผลิตเนื้อและหนังเป็นหลัก แต่ก็มีข้อด้อยคือให้น้ำนมค่อนข้างน้อย
ต่อมา เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประเทศปากีสถานในปี 2555 ทางการประเทศปากีสถานได้ถวายแพะพันธุ์บาร์บารี จำนวน 1 คู่ เป็นเพศเมีย 1 ตัว เพศผู้ 1 ตัว ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานให้เลี้ยงไว้ในโครงการแห่งนี้เช่นเดียวกัน
ซึ่งแพะเหล่านี้ปัจจุบันมีการขยายพันธ์ุและส่งเสริมให้มีการเลี้ยงในหมู่ เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอย่างกว้างขวาง และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับอาชีพของประชาชนในพื้นที่ทดแทนการทำการเกษตร แบบเดิมที่มักจะมีปัญหาเรื่องการตลาดของผลผลิต
credit: dailynews.co.th/agriculture/519687