data-ad-format="autorelaxed">
“จิ้งหรีด” หรือแมงสะดิ้งในภาษาท้องถิ่นอีสาน ทุกวันนี้มีการส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างจริงจัง เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งต้นทุนต่ำ ใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย และเลี้ยงค่อนข้างง่าย น่าจะเป็นช่องทางอาชีพใหม่ที่น่าสนใจสามารถเลี้ยงเป็นรายได้เสริม หรือเลี้ยงจริงจังยึดเป็นอาชีพหลัก ดูแลครอบครัวได้เลย
อาจารย์ชำนาญ ค้ำชู อาจารย์ประจำวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ผู้ดูแลโครงการการจัดความรู้การเลี้ยงจิ้งหรีด (แมงสะดิ้ง) จังหวัดสระแก้ว เผยต่อผู้สื่อข่าว “SME ผู้จัดการออนไลน์” ว่า แมงสะดิ้ง หรือจิ้งหรีด สายพันธุ์ทองแดงลาย ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดไม่พอขายเพราะคนทั่วไปนิยมกินมากเพิ่มขึ้น รวมถึงยังเป็นที่ต้องการนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับปลาสวยงาม และอาหารสำหรับเลี้ยงตุ๊กแก เนื่องจากแมงสะดิ้งมีคุณประโยชน์ทางสารอาหารสูง โดยเฉพาะโปรตีน อีกทั้งจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่ไวต่อสารพิษมาก ถ้าติดสารพิษตัวเดียวก็จะตายยกคอกเลย ดังนั้นผู้กินจึงสบายใจได้ว่าแมงสะดิ้งเป็นอาหารที่ปลอดภัยและอุดมด้วยสารอาหาร
สำหรับการเลี้ยงเพื่อค้าขาย กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในเขตจังหวัดสระแก้ว โดยเฉพาะที่ อ.เมือง และ อ.อรัญประเทศ เนื่องจากที่ตลาดโรงเกลือเป็นแหล่งขายส่งหลัก โดยเฉลี่ยยอดขายแมงสะดิ้งที่ตลาดโรงเกลือต่อวันมูลค่าถึงกว่า 20 ล้านบาท โดยแมงสะดิ้ง 90% ที่ขายอยู่ทั่วประเทศจะรับซื้อมาจากตลาดโรงเกลือ
อาจารย์ชำนาญเผยต่อว่า ความน่าสนใจในการเลี้ยงแมงสะดิ้ง คือมีตลาดรับรองสูง ราคาค่อนข้างดี ถ้าเป็นช่วงที่มีสินค้าจากกัมพูชาเข้ามาขายแข่งราคาจะอยู่ที่ 60-80 บาทต่อกิโลกรัม แต่โดยปกติทั่วไปราคาขายส่งเฉลี่ยที่โรงเกลือประมาณ 100-120 บาทต่อกิโลกรัม และถ้าขายเองไม่ได้ส่งโรงเกลือ โดยเน้นเลี้ยงส่งไปยังแหล่งเลี้ยงปลาสวยงามราคาจะสูงถึง 200-300 บาทต่อกิโลกรัมทีเดียว
ทั้งนี้ การเลี้ยงแมงสะดิ้งใช้ทุนต่ำมาก แค่หลักพันบาทก็สามารถเริ่มต้นอาชีพนี้ได้แล้ว โดยอุปกรณ์ที่ใช้ทำคอกเลี้ยงสามารถประยุกต์ได้หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น นำแผ่นยิปซัมฉาบเรียบมาประกอบเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ภายในวางด้วยถาดรองไข่ไก่ แล้วคลุมด้วยตาข่ายก็สามารถเป็นคอกเลี้ยงได้แล้ว
โดยหัวใจสำคัญที่สุด พื้นที่เลี้ยงอากาศต้องถ่ายเทได้ดี และเลี้ยงระบบปิด ดูแลความสะอาดอย่างดีที่สุดป้องกันการติดโรค นอกจากนั้น การเลี้ยงในฟาร์มเดียวกันไม่ควรจะเกิน 2-3 รอบ เพราะจะเกิดโรคจาก “เลือดชิด” ดังนั้น หลังจากเพาะเลี้ยง 2-3 รอบแล้ว ต้องนำพันธุ์จากพื้นที่อื่นมาผสมให้เกิดการข้ามเลือดด้วย
สำหรับผู้สนใจยึดอาชีพนี้สามารถทำได้ตั้งแต่เป็นรายได้เสริม โดยทำคอกเล็กๆ อยู่ภายในบ้านของตัวเอง โดยวิธีการ ตั้งต้นใช้วิธีไปซื้อไข่มาจากฟาร์มเลี้ยงแมงสะดิ้ง ราคาขายไข่ ประมาณ 50-100 บาทต่อหนึ่งขันน้ำ จากนั้นนำขันไข่วางเรียงลงในคอกเลี้ยง แล้วให้อาหารตามสูตร (ดูคลิปวิธีการเลี้ยงประกอบ) โดยการเลี้ยงต่อรอบใช้เวลาประมาณ 35-40 วัน ต่อรอบหนึ่งคอกสามารถขายได้เงินประมาณ 15,000-20,000 บาท
และนอกจากจะขายเป็นตัวแล้ว มูลของแมงสะดิ้งยังสามารถขายเป็นปุ๋ยได้ด้วย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรที่ทำนาทำสวนอยู่ด้วย เพราะจะช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกได้อีกทาง รวมถึงไข่ที่ออกมาก็สามารถขายได้ด้วย
ส่วนผู้ที่จะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักจริงจังนั้น ควรจะเลี้ยงอย่างน้อยประมาณ 3-5 คอกขึ้นไปเพื่อจะสลับหมุนเวียนเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี และแนะนำว่าควรจะมุ่งทำตลาดเน้นส่งเป็นอาหารสำหรับปลาสวยงาม และอาหารสำหรับเลี้ยงตุ๊กแกซึ่งจะได้ราคาสูง นอกจากนั้นต้องคำนึงถึงต้นทุนค่าขนส่งด้วย
อาจารย์ชำนาญเผยด้วยว่า เดิมการเลี้ยงแมงสะดิ้งจะถ่ายทอดความรู้กันลักษณะปากต่อปาก ไม่ได้มีการจัดการความรู้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาตายระหว่างเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และเกิดโรคระบาด ส่วนการเลี้ยงเป็นฟาร์มสมบูรณ์แบบอย่างถูกต้องครบวงจรยังถือเป็นอาชีพใหม่ มีทำอยู่น้อยมาก ทั่วประเทศมีไม่เกิน 10 แห่ง ดังนั้น วิทยาลัยชุมชนสระแก้วจึงได้รับการเรียกร้องจากชาวบ้านในท้องถิ่นที่สนใจยึดอาชีพนี้ให้ช่วยจัดหลักสูตรการเลี้ยงแมงสะดิ้งขึ้น
ทางวิทยาลัยชุมชนสระแก้วได้เปิดอบรมเป็นหลักสูตรอาชีพระยะสั้น ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วประมาณ 60 คน ทั้งเกษตรกร และคนทั่วไป โดยความรู้ส่วนหนึ่งในการอบรม ได้เชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดวิชา เช่น กรณีของฟาร์มเอม-อร โดยคุณเอมอร รักงาม ประยุกต์สูตรอาหารเสริม จากเดิมเลี้ยงด้วยพืชเท่านั้น จะเสริมด้วยเลี้ยงโดยอาหารไก่ผสมอาหารปลาเพื่อกระตุ้นให้แมงสะดิ้งมีน้ำหนักดีขึ้น และออกไข่ด้วย สามารถขายได้ราคาสูง โดยมีเคล็ดลับก่อนจะขายให้กลับไปกินผักใบตำลึง ใบฟักทอง และใบมันสำปะหลังประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยดับกลิ่นหัวอาหารสัตว์ ทำให้แมงสะดิ้งคืนรสชาติเหมือนธรรมชาติที่เป็นสัตว์กินพืช
สำหรับผู้อยากได้ความรู้อย่างละเอียดในการเลี้ยงแมงสะดิ้ง สามารถติดต่อไปได้ที่วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว โทร. 0-3742-5487 หรือ 0-3742-5291
ข้อมูลจาก manager.co.th