กรมส่งเสริมการเกษตรกับการส่งเสริมด้านแมลงเศรษฐกิจ เร่งสนับสนุนเลี้ยงชันโรงสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้เฉลี่ย กิโลกรัมละ 1 พันบาท
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นองค์กรภาครัฐที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน งานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ เป็นบทบาทภารกิจหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้เป็นอาชีพที่มั่นคง โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าแมลงเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาการผลิตสินค้าแมลงเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ
ในปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานภาครัฐเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินงานส่งเสริมด้านแมลงเศรษฐกิจ ได้แก่ ชันโรง ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง จิ้งหรีด ครั่ง และด้วงสาคู โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบที่ตั้งอยู่ในส่วนกลาง และกระจายอยู่ทั่วประเทศ
กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ทำหน้าที่อำนวยการงานด้านวิชาการ และประสานงานการดำเนินการงานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ปฏิบัติการ ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ส่งเสริม และถ่ายทอดความรู้พร้อมทั้งฝึกอบรมวิชาชีพด้านแมลงเศรษฐกิจ ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวมีที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 5 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดชุมพร ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดขอนแก่น จันทบุรี และจังหวัดอุตรดิตถ์
การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นเป็นอาชีพทางการเกษตรที่สำคัญอาชีพหนึ่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอสรุปสถานการณ์การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ดังนี้ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคู
สำหรับสถานการณ์ชันโรง ซึ่งเป็นแมลงในวงศ์เดียวกับผึ้ง มีพฤติกรรมเก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรหรือเรณูมาใช้เป็นอาหาร แต่ชันโรงไม่มีเหล็กในจึงไม่สามารถต่อยได้ ชันโรงเป็นแมลงช่วยผสมเกสรที่มีอยู่ในท้องถิ่น และสามารถช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจ เช่น เงาะ มะขาม ทานตะวัน มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย เป็นต้น มีนิสัยไม่เลือกตอมดอกที่ถูกแมลงอื่นตอมแล้ว และสามารถระบุพืชที่ต้องการผสมเกสรได้ เพราะชันโรงมีรัศมีหากินประมาณ 300 เมตร
จากสถิติการเลี้ยงชันโรงพบว่าปี 2556 มีเกษตรกรผู้เลี้ยง จำนวน 697 ราย จำนวนรังชันโรง 6,602 รัง พื้นที่ผสมเกสร 16,505 ไร่ ส่วนผลผลิตจากน้ำผึ้งชันโรง เฉลี่ย ครึ่งกิโลกรัม - 1 กิโลกรัม/รัง เกษตรกรขายได้ ประมาณ 1,000 บาท/กิโลกรัม
แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ขอนแก่น และกาญจนบุรี
สุดท้ายนาย โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ผลผลิตจากชันโรง น้ำผึ้งชันโรง และพรอพอลิส ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศไทย และยังไม่มีการนำเข้าและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยชันโรงจะสามารถแยกขยายรังและเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร 02-940-6102
ขอบคุณข้อมูลจาก: ทีมประชาสัมพันธ์ข่าว กรมส่งเสริมการเกษตร