แม้ปัจจุบันปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 ที่พัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร กรมประมง ตลาดยังไม่กว้างนัก แต่บนเวทีสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ "เลี้ยงปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 อย่างไรให้รวย ?" ที่คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิชาการและพ่อค้าได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพด้านการตลาดปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 ว่า อนาคตหลังจากที่มีการรวมกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีอี ปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 อาจขยายตลาดสู่เออีซี ในรูปแบบของปลาหมอแปรรูปก็ได้
ดร.อนามัย ดาเนตร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงานสัมมนาว่า ประเทศไทยมีความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หลากหลาย อย่างปลาหมอคนไทยนิยมบริโภคมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สามารถทำอาหารได้หลายอย่าง แต่ที่ผ่านมามีข้อกำจัดในความรู้สึกของคนไทยคือก้างเยอะ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร กรมประมง ที่ได้วิจัยพัฒนาปลาหมอสายพันธุ์ใหม่ชุมพร 1 ที่มีคุณสมบัติที่ตัวโตเร็ว เนื้อเยอะ เหมาะแก่การที่จะส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไป
ด้าน ดร.สง่า ลีสง่า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร กล่าวว่า ปลาหมอสายพันธ์ชุมพร 1 เป็นปลาหมอที่ทีมนักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร จ.ชุมพร ทำการวิจัยและคัดสายพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์จากทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ.2546-2554 จนได้สายพันธุ์ปลาหมอไทยที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง โตเร็ว หลังจากที่ทดลองจนประสบความสำเร็จ กรมประมงได้อนุมัติให้ใช้ชื่อสายพันธุ์ว่า "ชุมพร 1" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 ทำให้เกษตรกรสั่งจองลูกพันธุ์จำนวนมาก
"เราใช้เวลาในการผสมสายพันธุ์มาหลายรุ่นจนได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด คือโตเร็วกว่าปกติ ตัวใหญ่กว่า หนักกว่าเดิม ลำตัวขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 70% เลี้ยง 120 วัน มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ตัวละ 71.50 กรัม ขนาดยาวของลำตัว 14.70 ซม. ตัวเมียจะโตกว่าตัวผู้ถึงเท่าตัว" ดร.สง่า กล่าว
ส่วน ดร.สุชาติ อิงธรรมจิตร์ ผู้ช่วยคณบดีคณะประมง วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การที่เกษตรกรจะตัดสินใจเลี้ยงปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 ให้มีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยง ต้องคำนึงอันดับแรกคือ ลูกปลาที่จะเลี้ยง ที่จะต้องมาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ดีแข็งแรง ตรงสายพันธุ์ที่เลือกไว้ แข็งแรงปลอดโรค แม้ปลาหมอจะเป็นปลาที่อึด ทนทานต่อสภาพแวดล้อม แต่ควรระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร หากน้อยไปปลาจะกัดกินกันเอง ในส่วนของตลาด หากมองในภาพรวมเห็นว่า ปลาหมอไทยเป็นปลาที่มีรสชาติดี หลายประเทศไทยในอาเซียนนิยมบริโภค ฉะนั้นการรวมตัวเป็นเออีซีในปลายปีนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้
สอดคล้องกับมุมมองของพ่อค้า อย่าง นายขวัญชัย ศรีทองอ่อน เจ้าของแผงรับซื้อปลาน้ำจืด ที่ตลาดไท บอกว่า ปัจจุบันตลาดปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 ยังไม่กว้างพอ เนื่องจากปริมาณที่จะเข้าตลาดไม่แน่นอน อย่างที่แผงของเขารับซื้อวันละ 1 ตัน ขายหมดทุกวัน หากวันละ 2 ตัน ก็รับได้ แต่ปัญหาคือ บางวันไม่มีสินค้าไปส่ง ทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในเชิงการค้า
"นี่เป็นการขายปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 สดๆ อนาคตผมมองว่า หากมีการแปรรูป ผ่าหลังเอาก้างออก แพ็กใส่กล่อมโฟม ใส่ตู้แช่หรือแปรรูปเป็นแดดเดียว ทำแบรนด์เป็นของตัวเอง ผมมั่นใจว่าจะขยายตลาดได้ และเมื่อเรารวมตัวเป็นเออีซี อาจขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านได้" นายขวัญชัย กล่าว
ขณะที่ นายณัฐวัฒน์ บำเหน็จพันธุ์ หรือ หมาปลาหมอ เจ้าของฟาร์มปลาหมอ "แม่ศรีฟาร์ม" เจ้าแรก ใน จ.นครราชสีมา บอกว่า การเลี้ยงปลาหมอสายพันธุ์ชุมพร 1 เป็นอาชีพที่น่าสนใจ เพราะในปัจจุบันกำไรคุ้มกับการลงทุน หากเป็นบ่อดินพื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปล่อยได้ 35-50 ตัว เลี้ยง 120 วันจะได้ขนาด 6-7 ตัว/กก. พื้นที่ขนาดบ่อที่เหมาะที่สุด 1 งาน-1 ไร่ อย่างพื้นที่ 1 ไร่ ลงทุนราว 265,000 บาท ขายแล้ว ได้กว่า 5 แสนบาท
"ผมเลี้ยงครั้งแรก 2 บ่อ ขนาดบ่อละ 1.5 งาน หรือ 600 ตารางวา ปล่อยบ่อละ 5 หมื่นตัว เลี้ยงได้ 4 เดือนได้ 14 ตัน ขายได้กว่า 1 ล้านบาท แต่ลงทุนเพียง 6 แสนเท่านั้น แต่ถ้าจะเลี้ยงผมแนะว่า ควรหาตลาดเองในพื้นที่ด้วย เพื่อลดความเสี่ยง" นายณัฐวัฒน์ กล่าว
จาก komchadluek.net