นายสุนทร นิคมรัตน์ นายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย และเจ้าของฟาร์มคาบอยแลนด์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผลิตสายพันธุ์โคเนื้อได้ครั้งแรกในประเทศไทย โดยการผสมสายพันธุ์โคเนื้อสามสายพันธุ์เข้าไว้ด้วยกัน
ทั้งสายพันธุ์โคพื้นเมือง พันธุ์บราห์มัน และพันธุ์ชาโลเล่ ทำให้มีลักษณะที่ดี แข็งแรง ให้เนื้อดี ได้รับการตั้งชื่อว่า สายพันธุ์กำแพงแสน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ในฟาร์มของตนเองขณะนี้มีอยู่ 516 ตัว มีแม่พันธุ์ 245 ตัว การตลาดกำลังไปได้ดี โคเนื้อน้ำหนักตัวละ 500 ก.ก.ขึ้นไป ราคาหน้าฟาร์มซื้ออยู่กิโลกรัมละ 110 บาท โดยฟาร์มแห่งนี้จะนำส่งสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนเท่านั้น เพราะ เป็นเนื้อวัวชั้นดีหรือพรีเมียมเกรด ส่งในตลาดชั้นสูงและ ส่งออกตลาดต่างประเทศ
ปัจจุบันทั้งจีนและเวียดนามมียอดติดต่อซื้อเข้ามามาก แต่ในขณะนี้มีปัญหาเนื้อวัวของกำแพงแสนไม่พอที่จะบริโภคในประเทศ เพราะมีผู้นิยมเพิ่มขึ้น เพราะเป็นวัวไทยชั้นเยี่ยมที่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับออสเตรเลียได้
นายกสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า พื้นที่เกษตรกรรมต่อไร่ ในการเลี้ยงโคเนื้อ จะสามารถเลี้ยงได้ 4 ตัวต่อ 1 ไร่ โดยการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นหลักไว้ให้โคกินเพื่อลดต้นทุนในการผลิต หนึ่งปีเกษตรกรจะมีรายได้ 4 หมื่นบาทต่อไร่ นอกจากนี้มูลโคยังขายได้ในราคากิโลกรัมละ 2 บาท
ด้านนายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ สายพันธุ์กำแพงแสน แทนพืชผลการเกษตร เช่น ยางพารา และข้าว หรือเลี้ยงเพื่อให้มีรายได้เสริมของเกษตรกร เนื่องจากผลตอบแทนจะดีกว่าพืชยางพาราที่กำลังมีปัญหา ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกแห่ง
อ้างอิง khaosod.co.th