ต้นแบบการเลี้ยงกุ้งในนาจากโครงการหลวงนำมาสู่การสร้างรายได้ควบคู่กับการทำนา แก้ปัญหาขาดทุนสะสมของชาวนา อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
เริ่มต้นจากแนวคิดหาวิธีแก้ปัญหาหนี้สะสมของขาวนาใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว จึงได้นำวิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง กุ้งแม่น้ำจากต่างประเทศมาเลี้ยงในนาข้าว ที่ศึกษาจากโครงการหลวงมาทดลอง โดยเน้นหลักการรักษาสมดุลธรรมชาติเป็นหลัก ให้อาหารตามปกติ ไม่ต้องดูแลมาก ขี้กุ้งที่เกิดทุกวัน ก็เป็นปุ๋ย
ต้นทุนกว่าครึ่งที่สามารถผลิตได้เอง เมื่อเทียบกับปลาที่ต้นทุนส่วนใหญ่หมดไปกับค่าอาหารที่ไม่สามารถผลิตเองได้ และกุ้งก้ามแดงยังถือเป็นสินค้าในตลาดบน ที่ขายให้โรงแรมและร้านอาหารต่างๆ สูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาทขึ้นไป ถือเป็นเหตุผลสำคัญของการเลือกเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรที่นี่
สำหรับการลดต้นทุนของเกษตรกรที่นี่ใช้การรวมกลุ่มกันเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง โดยเริ่มจากการคัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่แข็งแรงมาผสมพันธุ์ใน 1 ปี กุ้ง จะไข่ประมาณ 3 รอบ โดยเมื่อติดไข่แล้วอีก 35-40 วัน กุ้งจะฟักเป็นตัว ซึ่งระหว่างนี้จะแยกแม่พันธุ์ไว้ในตระกร้าป้องกันกินลูกกุ้ง ก่อนนำไปอนุบาลในกระชังในนาข้าวประมาณ 45 วัน จนลูกกุ้งมีขนาด 1 นิ้ว ก่อนคัดแบ่งขนาดเป็น 1 นิ้ว และ 3 นิ้ว นำไปเลี้ยงในนาข้าวที่มีอายุ 45 วัน โดยใช้คอนโดฯ กุ้งที่ทำจากขวดพลาสติก เลี้ยงไว้ประมาณ 4 เดือนจึงจับขายได้
ส่วนการป้องกันศัตรูของกุ้งขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเตรียมบ่อ ที่ต้องกันตาข่ายกันสัตว์เข้ามากิน และอนาคตเกษตรกรกลุ่มนี้จะหาปลามาเลี้ยงให้นาข้าวที่นี่เป็นไปตามความสมบรูณ์ของไทยในอดีต คือ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เพื่อให้มีข้าวไว้กิน มีปลาไว้กินและขายในท้องถิ่น ส่วนกุ้งเอาไว้ขายให้โรงแรม.
จาก สำนักข่าวไทย