data-ad-format="autorelaxed">
โรคตายจากยอดยางพารา อาการตายจากยอด (Die back) โดยทั่วไปสาเหตุของการตายจากยอดของต้นยางพาราอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากอากาศแห้งแล้งจัดเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้ดินบริเวณรอบๆ รากขาดน้ำ หรือในดินทรายจัดซึ่งมีลักษณะไม่อุ้มน้ำ, อาจเกิดจากเชื้อสาเหตุโรคบางชนิดเข้าทำลาย เช่น โรคใบจุดนูน, โรคราแป้ง, โรคใบจุดก้างปลา หรืออาจเกิดจากสารเคมีตกค้างในดิน เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือการใส่ปุ๋ยมากเกินไป และอาจเกิดจากการมีแผ่นหินดานหรือโครงสร้างคล้ายหินดาน อยู่ใต้พื้นดินระดับสูงกว่า 1 เมตรขึ้นมา เป็นต้น
ลักษณะอาการตายจากยอด
ใบอ่อนเริ่มเหี่ยวและแห้งจากปลายกิ่งหรือปลายยอด ลุกลามเข้ามาหาส่วนโคนทีละน้อย ถ้าอาการเป็นไปอย่างช้าๆ ส่วนของกิ่งหรือลำต้นที่ยังไม่ตายจะแตกแขนงใหม่ เพื่อเจริญเติบโตต่อไป แต่ถ้าอาการแห้งตายเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะแห้งตายตลอดต้นในระยะเวลาอันสั้น เปลือกล่อนออกจากเนื้อไม้ มองเห็นเชื้อราสีดำหรือขาวเกิดขึ้นบริเวณด้านในของเปลือก
การป้องกันรักษาอาการตายจากยอด
ตัดกิ่งหรือยอดส่วนที่แห้งออก โดยตัดให้ต่ำลงมา 1-2 นิ้วแล้วใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทาบริเวณรอยแผล บำรุงรักษาต้นยางให้สมบูรณ์อยู่เสมอ พยายามแก้ไขสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้งให้รดน้ำตามความจำเป็น หรือใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้น ถ้าเกิดจากโรคระบาด ให้ทำการรักษาตามคำแนะนำ การใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก โรคและศัตรูยางพาราที่สำคัญในประเทศไทย, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 2549