data-ad-format="autorelaxed">
การติดตาเปลี่ยนยอดยางพารา- การติดตาเปลี่ยนยอด (Crown Budding) เป็นการเปลี่ยนแปลงทรงพุ่มของพันธุ์ยางที่มีปัญหาทางสภาพแวดล้อม โดยใช้ทรงพุ่มของยางพันธุ์ที่มีปัญหาทางสภาพแวดล้อม โดยใช้ทรงพุ่มของยางพันธุ์อื่นๆ เข้าทดแทน เพื่อลดความรุนแรงของปัญหานั้นๆ โดยเฉพาะปัญหาจากโรคที่เกิดเกี่ยวกับทรงพุ่ม เช่น โรคใบร่วง โรคราสีชมพู เป็นต้น โดยส่วนของลำต้น ซึ่งเป็นส่วนเก็บผลผลิต ยังคงให้ผลผลิตดีอยู่ เช่นเดิม ดังนั้น ต้นยางที่ได้รับการติดตาเปลี่ยนยอด จึงแบ่งเป็นส่วนๆ ได้สามส่วน ซึ่งมีลักษณะดีเด่นรวมอยู่ในต้นเดียวกัน กล่าวคือ ส่วนที่เป็นราก เป็นยางพันธุ์พื้นเมืองที่มีระบบรากแข็งแรงหาอาหารได้มาก ส่วนของลำต้นเป็นยางพันธุ์ที่ต้องการปลูก ซึ่งให้ผลผลิตสูง การเจริญเติบโตและเปลือกกรีดดี ส่วนของทรงพุ่มเป็นส่วนที่เปลื่ยนเอาพันธุ์ยางที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เช่น แตกกิ่งก้านสาขาแข็งแรง สมบูรณ์ ต้านทานลม และโรคที่เกี่ยวกับทรงพุ่ม และคาคบเป็นต้น
หลักการพิจารณาใช้วิธีการติดตาเปลี่ยนยอด
วิธีการติดตาเปลี่ยนยอด ไม่จำเป็นจะ้ต้องใช้กับต้นยางในทุกสถานที่ แต่ทำที่ใดนั้น สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยกำหนด เช่น การระบดของโรค ความรุนแรงของกระแสลม เป็นต้น แต่คำแนะนำ ของสถาบันวิจัยยาง ได้เน้นหนักเฉพาะบริเวณที่เกิดโรคร่วงไฟท็อปโทร่าระบาด ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น บริเวณที่โรคราสีชมพูระบาด หรือบริเวณที่กระแสลมรุนแรงทำให้ทรงพุ่มฉีกขาดได้ คำนึงถึงแต่น้อย เท่าที่สำรวจพบว่าท้องที่ปลูกยางพาราทางแถบชายฝั่งทะเลตะวันตก ของภาคใต้ เช่น จังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช(บางส่วน) สุราษฏร์ธานี (บางส่วน) และจังหวัดในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ตราด มีโรคใบร่วงไฟท๊อบโทร่าระบาดค่อนข้างรุนแรง ในช่วงที่มีฝนตกชุกเป็นประจำแทบทุกปี ดังนั้น สวนยางในพื้นที่ของบริเวณดังกล่าวที่ปลูกยางพันธุ์ดี แต่อ่อนแอต่อโรค เช่น พันธุ์ RRIM600 ควรดำเนินการติดตาเปลี่ยนยอด
ผลจากการติดตาเปลี่ยนยอด
การติดตาเปลี่ยนยอด เป็นการเปลี่ยนเอาทรงพุ่มของยางพันธุ์ใหม่ ไปใช้กับลำต้นของยางพันธุ์เดิมจึงทำให้เกิดปฏิกริยาสัมพันธ์ (Interaction) ขึ้นระหว่างลำต้นของพันธุ์เดิมกับยอดที่เป็นพันธุ์ใหม่ ผลจากปฏิกริยาสัมพันธ์นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อต้นยางและผลผลิตหลายประการคือ
• ความเจริญเติบโต จากการศึกษาของสถาบันวิจัยยาง โดยใช้ยางพันธุ์ อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ติดตาเปลื่ยนยอดด้วยพันธุ์ GT1 ในสวนยางเอกชน พบว่าอัตราการเพิ่มของความเจริญเติบโต (Girth increment) ในระยะก่อนเปิดกรีดของแปลงติดตาเปลี่ยนยอด และไม่ติดตาเปลี่ยนยอด ไม่แตกต่างกัน ต้นยางทั้งสองแปลงเปิดกรีดได้พร้อมกัน แม้จะเสียเวลาไปช่วงหนึ่งกับการเปลี่ยนแปลงยอด แต่ในระยะหลังเปิดกรีด อัตราการเพิ่มของความเจริญเติบโต ของแปลงติดตาเปลี่ยนยอดสูงกว่า ไม่ติดตาเปลี่ยนยอดอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้อาจเกิดจากอิทธิพลของยอดที่ผลัดใบช้า และความเข้มของสีใบสูงในพันธุ์ GT1 ที่เป็นยอด
• ผลผลิต จากการศึกษาถึงปริมาณผลผลิต และคุณภาพของผลผลิตในรูปของน้ำยาง ปรากฏว่า เปอร์เซนต์เนื้อยางแห้งที่ได้จากการติดตาเปลี่ยนยอดมีเปอร์เซนต์เนื้อยางแห้งแตกต่างกับไม่ติดตาเปลี่ยนยอดอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกับผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นแปลงติดตาเปลี่ยนยอดลดลงจากไม่ติดตาเปลี่ยนยอด 11.24% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแปลงติดตาเปลี่ยนยอดจะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น ต่อครั้งกรีดต่ำกว่าก็ตาม แต่ต้นยางมีความต้านทานโรคใบร่วงสูงและผลัดใบช้า ดังนั้นถ้าปลูกในเขตที่มีโรคใบร่วงระบาดอย่างรุนแรง จะทำให้จำนวนวันกรีดยาง ของแปลงติดตาเปลี่ยนยอดมากกว่าแปลงไม่ติดตาเปลี่ยนยอด ในลักษณะเช่นนี้จะทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่/ปี ของแปลงติดตาเปลี่ยนยอดสูงกว่าแปลงไม่ติดตาเปลี่ยนยอด
• ความต้านทานโรค สถาบันวิจัยยางมาเลเซีย ได้ศึกษาการติดตาเปลี่ยนยอด อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 ด้วย GT1 เกี่ยวกับการเป็นโรคราสีชมพู พบว่า ต้นยางที่ติดตาเปลี่ยนยอดมีอาการโรคราสีชมพู น้อยกว่าต้นยางที่ไม่ติดตาเปลี่ยนยอด 15-19%
• ผลต่อลักษณะอื่น ๆ การติดตาเปลี่ยนยอดจะมีผลต่อลักษณะอื่น ทั้งในส่วนกายภาพของต้นยางและหน้ายาง เช่น ความหนาของเปลือกเดิม และเปลือกงอกใหม่ จำนวนท่อน้ำยาง คุณสมบัติทางอุตสาหกรรมของยางธรรมชาติและอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ที่เป็นลำต้นและเป็นยอดที่มีอิทธิพลให้คุณสมบัติเหล่านี้ดีขึ้น และเลวลง
ขั้นตอนการติดตาเปลี่ยนยอด
การปฏิบัติก่อนติดตา และเตรียมการ การสำรวจสภาพต้นยาง ต้นยางที่เหมาะสมจะติดตาเปลี่ยนยอด ควรอายุ 8-12 เดือน ความสูงประมาณ 2.2-2.5 ม. และที่ความสูง 1.80 ถึง 2.00 เมตร จากพื้นดินซึ่งเป็นบริเวณที่จะติดตา มีเปลือกเป็นสีเขียวแก่ และฉัตรใบที่อยู่เหนือบริเวณนี้ต้องเจริญเติบโตเต็มที่ จำนวนต้นที่จะติดตาในแปลงรอบแรก ควรมีอย่างน้อยกว่า 50% ของแปลงต้นยางที่มีอายุ และความสูงเกินจากนี้ก็อาจติดตาได้แต่ต้องติดให้สูงกว่า 2 ม. ขึ้นไปซึ่งอาจไม่สะดวกในทางปฏิบัติ
จัดเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือ การติดตาเปลื่ยนยอด ใช้วิธีการติดตาเขียวเมือนการติดตาต้นกล้ายางโดยทั่วๆไป ดังนั้น การจัดเตรียมกิ่งตาและเครื่องใช้ในการติดตา จึงเหมือนกับการติดตาเขียวทุกประการ เพียงแต่เพิ่มเก้าอีหรือบันไดเพียงอย่างเดียวเพราะต้องติดตาอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ
การปฏิบัติในช่วงติดตา
การติดตา ตำแหน่งที่จะติดตาควรอยู่บริเวณปล้องใต้ฉัตรยอดที่มีใบแก่ หากฉัตรยอดยังเป็นใบอ่อนให้ติดตาบริเวณฉัตรที่ 2 (ความสูง 1.80-2.00 ม.) จากพื้นดิน เปลือกที่ตำแหน่งติดตาต้องเป็นสีเขียวแก่ ถ้ายังเป็นสีเขียวอ่อนหรือเป็นสีน้ำตาลเข้มจะได้รับผลสำเร็จน้อยลง ส่วนวิธีการปฏิบัติ และข้อจำกัดในการติดตา ใช้หลักการเดียวกับการติดตาเขียวทุกประการ
การตรวจสอบผลสำเร็จและติดตาซ่อม หลังจากติดตาแล้วประมาร 21 วัน ให้ตรวจดูผลการติดตา ถ้าติดตาไม่สำเร็จควรติดตาซ่อม โดยการติดตาด้านตรงกันข้ามกับที่ได้ติดตามาแล้ว แต่ให้ติดสูงหรือต่ำกว่ารอยติดตาเดิมประมาณ 5 ซม. ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาซ่อม ในขณะเีดียวกัน ควรติดตาต้นที่ยังติดไม่ได้ในรอบแรกเพิ่มเติมด้วยเพื่อจะได้ติดตาหมดทั้งแปลง
การตัดยอดเดิมให้ตาแตกตาที่ติดสำเร็จแล้วให้เอาพลาสติกที่พันแผ่นตาออก โดยใช้มีดกรีดด้านตรงข้ามกับแผ่นตา แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ต่อจากนั้นจึงใช้กรรไกรตััดยอดเดิมทิ้ง โดยตัดในบริเวณฉัตรเหนือรอยติดตาให้ใบเหลืออยู่่ประมาณ 7-10 ก้านใบ เพื่อไว้เป็นส่วนป้องกันลมให้แก่ตาที่แตกออกมาใหม่ ในขณะที่ตัดยอดเดิมจะต้องมีดปลายแหลมเขี่ย ทำลายตาชอกใบที่เหลือไว้ออกให้หมด เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ตาชอกใบเหล่านี้แตกออกมาก่อนตาที่ติดเอาไว้เพราะถ้าตาเหล่านี้แตกออกมาก่อนจะทำให้ตาที่ติดไว้แตกช้ากว่าปกติ
อ้างอิง : http://www.yangpara.com/